ท่ามกลางกระแสข่าวลือ “ยุบสภา” ของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังการประชุมเอเปค บางกระแสข่าวระบุถึงขั้นว่า พล.อ. ประยุทธ์ จะยุบสภาในวันที่ 24 ธ.ค. นี้ ซึ่งการยุบสภา เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี ฉะนั้น จึงมีเพียง พล.อ. ประยุทธ์ แต่เพียงผู้เดียว ที่จะให้ความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ แม้กระทั่ง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยังเคยพูดถึงการยุบสภาเอาไว้ เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2564 ว่า “ถ้ามี เขาก็ไม่พูด”
ทีมข่าวฐานเศรษฐกิจ ได้รวบรวม ประวัติการยุบสภาในประเทศไทย ว่าเกิดขึ้นมาแล้วกี่ครั้ง และมีเหตุผลอะไรจึงต้องยุบสภา
ประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศไทยได้มีการยุบสภามาแล้ว 14 ครั้ง
ครั้งที่ 1 พันเอก พระยาพหลพลหยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรียุบสภา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2481 เนื่องจากรัฐบาลแพ้มติสภาฯ ในการเสนอญัตติขอแก้ไขข้อบังคับการประชุม และการปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎร ข้อ ๖๘ เกี่ยวกับการเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ เพื่อพิจารณารับหลักการ ส่งผลให้ นายกรัฐมนตรีได้กราบถวายบังคมทูลลาออกจากตำแหน่ง แต่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เห็นว่าสถานการณ์โลกยังไม่มั่นคง และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลกำลังจะเสด็จนิวัติพระนคร รัฐบาลจึงควรอยู่ต่อไปนายกรัฐมนตรีจึงขอให้ออกพระราชกฤษฎีกายุบ สภาเพื่อให้เลือกตั้งสมาชิกประเภทที่ ๑ ใหม่
ครั้งที่ 2 ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรียุบสภา เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2488 เนื่องจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้รับเลือกตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2481 ได้มีพระราชบัญญัติขยายกำหนดเวลาให้อยู่ในตำแหน่งต่ออีก 2 ครั้ง เนื่องจากเกิดสงครามโลก ครั้งที่2 ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ จึงอยู่ในตำแหน่งนานเกินควร ประกอบกับรัฐบาลได้เสนอร่าง พระราชบัญญัติอาชญากรสงครามเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ บรรดาสมาชิกได้อภิปรายอย่างรุนแรง และลงมติไม่เห็นชอบด้วยกับหลักการบาง มาตราของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว
ครั้งที่ 3 นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรียุบสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2516 เนื่องจากกลุ่มนักศึกษาและประชาชนได้เคลื่อนไหวขอให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งแต่งตั้งไว้ สมัยจอมพล ถนอม กิตติขจรจำนวน 299 คนลาออก จึงเกิดการทยอยลาออกจนเหลือเพียง 11 คน ซึ่งไม่เพียงพอที่จะ เป็นองค์ประชุม จึงได้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อจะได้แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้นใหม่
ครั้งที่ 4 ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรียุบสภา เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2519 เนื่องจากเกิดปัญหา ความแตกแยกและขัดแย้งในคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นรัฐบาลผสมในขณะนั้นอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบกระเทือนต่อเสถียรภาพของรัฐบาล ประกอบกับจะมีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2519 นายกรัฐมนตรีจึงได้ดำเนินการออกพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร
ครั้งที่ 5 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรียุบสภา เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2526 เนื่องจากเกิดความ ขัดแย้งอย่างรุนแรงในปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปลี่ยนวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประชาชนและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ครั้งที่ 6 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรียุบสภา เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 เนื่องจากสมาชิกสภาฯ ทั้ง รัฐบาลและฝ่ายค้านได้ลงมติไม่รับพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก
ครั้งที่ 7 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรียุบสภา เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2531 เนื่องจากรัฐบาล เห็นว่าเกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองบางพรรค ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความไม่มั่นคงในเสถียรภาพของ รัฐบาลอันส่งผลให้เกิดอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน และการพัฒนาประเทศ
ครั้งที่ 8 นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรียุบสภา เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2535 เพื่อเป็นการแก้ปัญหาวิกฤตทางการเมือง คืนอำนาจให้ประชาชน เนื่องจาก นายอานันท์ เป็นนายกฯ และจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจ หลังเหตุการณ์พฤษภาคม พ.ศ. 2535 โดยพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ
ครั้งที่ 9 นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรียุบสภา เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 เนื่องจากรัฐบาลไม่มีเอกภาพ และมีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี กรณีที่ดิน(ส.ป.ก. 4-01) ทำให้มีการลาออกของพรรคร่วมรัฐบาล(พรรคพลังธรรม)
ครั้งที่ 10 นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรียุบสภา เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2539 เหตุผลการยุบสภาฯ ภายหลังมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ระหว่างวันที่ 18 - 20 กันยายน พ.ศ. 2539 โดยฝ่ายค้านเน้นอภิปรายที่ตัวนายบรรหาร ศิลปอาชา เรื่อง ประเด็นสัญชาติ เมื่อการอภิปรายสิ้นสุดลง ที่ประชุมพรรคร่วมรัฐบาลมีมติร่วมกันว่าจะขอให้นายบรรหาร ศิลปอาชา ลาออกจากตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีซึ่งนายบรรหาร ศิลปะอาชา ก็ประกาศผ่านสื่อว่าจะลาออกภายใน 7 วัน โดยระหว่างนั้นจะพิจารณาบุคคลที่เหมาะสมขึ้นมาเป็น นายกรัฐมนตรีแทน ก่อนจะเปลี่ยนใจประกาศยุบสภาในท้ายที่สุด
ครั้งที่ 11 นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 ภายหลังเข้ามาแก้ไขปัญหาจากวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 (เศรษฐกิจฟองสบู่) ซึ่งทำให้พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีประกอบกับรัฐสภาให้ความเห็นชอบกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาแล้ว จึงเป็นสาเหตุที่นำมาสู่การยุบสภา
ครั้งที่ 12 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 ภายหลังเกิดการชุมนุม ทางการเมือง และได้ขยายตัวไปอย่างกว้างขวาง ส่อเค้าว่าจะมีการเผชิญหน้าจนอาจปะทะกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย และอาจ มีการสอดแทรกฉวยโอกาสจากผู้ที่ประสงค์จะเห็นความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง แม้รัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหาด้วยการเปิดให้มีการอภิปราย ทั่วไป โดยไม่มีการลงมติในที่ประชุมรัฐสภาก็ไม่อาจแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกันระหว่างผู้ชุมนุมเรียกร้องกับรัฐบาลได้สภาพดังกล่าวย่อมไม่เป็น ผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ ในที่สุด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จึงตัดสินใจประกาศยุบสภา
ครั้งที่ 13 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 หลังจากได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ของบ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปเรียบร้อยแล้ว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงตัดสินใจคืน อำนาจการตัดสินใจทางการเมืองให้แก่ประชาชน ด้วยการประกาศยุบสภา
ครั้งที่ 14 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556 หลังจากกลุ่มผู้ชุมนุมจาก หลายภาคส่วนร่วมกันเดินขบวนกดดันเจ้าหน้าที่รัฐตามสถานที่ราชการต่าง ๆ คัดค้านการออกร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม พ.ศ. 2556
ที่มา : https://spm.thaigov.go.th/FILEROOM/spm-thaigov/DRAWER014/GENERAL/DATA0000/00000196.PDF