จากเด็กกำปงชายแดนใต้ “คนแรก”ผู้ว่าฯมุสลิมะห์

18 พ.ย. 2565 | 06:30 น.
อัปเดตล่าสุด :18 พ.ย. 2565 | 11:44 น.

เปิดรายชื่อแยกย้ายประจำปีบิ๊กคลองหลอดและผู้ว่าฯเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ไม่มีชื่อ“พาตีเมาะ สะดียามู” รองผู้ว่าฯนราธิวาส ปรากฎรวมอยู่ในบัญชี แฟนคลับพากันถอนใจเฮ้อ..ด้วยความเสียดาย

ทั้งที่มี“ข่าว”กระหึ่มก่อนหน้า ว่าจะได้ขึ้นนั่งเก้าอี้ผู้ว่าฯเต็มตัว

 

แต่หลังประชุมครม.15 พ.ย.2565 นี้ ได้เฮเสียงดังลั่น เมื่อมติครม.เห็นชอบบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายผู้ว่าฯ-ผู้ตรวจ" อีกชุด รวม 37 ตำแหน่ง รวมทั้งนางพาตีเมาะ ขยับจากรองผู้ว่าฯนราธิวาส ไปเป็นผู้ว่าฯ ปัตตานี

 

นอกจากเป็นผู้ว่าฯสตรีคนใหม่แล้ว “พาตีเมาะ” ยังเป็นผู้ว่าฯมุสลิมะห์(สตรีมุสลิม)คนแรกของไทย

 

พาตีเมาะ เกิดเมื่อวันที่ 19 พ.ย.2508 พื้นเพเดิมอยู่ที่บ้านปีซัด ม.1 ต.ลำใหม่ อ.เมืองยะ จ.ยะลา เติบโตและร่ำเรียนมาในหมู่บ้าน(กำปง) กับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา

จนไปจบรัฐประศาสนศาสตร์ (รปศ.) รุ่น 10 คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ (ม.อ. ) และ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม นิด้า

 

รับราชการเป็นนักปกครองในกระทรวงมหาดไทยตั้งแต่ปี 2536 ส่วนใหญ่วนเวียนในภาคใต้ ทั้งที่ระนอง ยะลา ปัตตานี เคยเป็นผอ.สำนักบริหารกลาง ศอ.บต. ก่อนไปเป็นรองผู้ว่าฯพัทลุง และรองผู้ว่าฯนราธิวาส

มีประสบการณ์กับบริบทสังคม-ชีวิตความเป็นอยู่-ความมั่นคงและการปกครอง ในพื้นที่พหุวัฒนธรรมของจังหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างโชกโชน นิยามตนเองเป็น“รองผู้ว่าฯกำปง” หรือนักปกครองแบบคนบ้าน ๆ

 

ด้วยบุคลิกเปิดกว้าง ลุยงาน พร้อมช่วยเหลือแก้ปัญหาทุกเรื่อง จึงได้ใจชาวบ้านและคนรอบข้าง จนเกิดกระแสหนุนผู้ว่าฯหญิงชายแดนใต้กันกระหึ่ม

 

ส่วนเรื่องบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายผู้ว่าฯ ก๊อก 2 นั้น เป็นเรื่องปกติ ที่ต้องรอรอบแรก การโยกย้ายระนาบผู้ว่าฯ-ผู้บริหารระดับสูง เสร็จสิ้นเรียบร้อยก่อน

 

จากนั้นจึงถึงรอบการปรับเลื่อนตำแหน่ง ซึ่งต้องมีขั้นตอนการประเมิน คัดเลือก และสอบวิสัยทัศน์ 1-2 เดือน ก่อนประกาศรายชื่อ

 

ที่เป็นอีกมิติใหม่ของชายแดนใต้

 

พาตีเมาะ สะดียามู

ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี(คนใหม่)