9 ร.ร.สังกัดกทม.นำร่อง พัฒนาคุ้มครองสวัสดิภาพ-ความปลอดภัยเด็ก

20 พ.ย. 2565 | 08:26 น.
อัปเดตล่าสุด :20 พ.ย. 2565 | 15:37 น.

เริ่มเลย 9 โรงเรียนสังกัด กทม.นำร่องพัฒนาและคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยรอบด้านของเด็ก พร้อมจัดตั้ง ดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนสิทธิเด็กและความปลอดภัยของเด็ก

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  (กทม.) กล่าวในงาน “การขับเคลื่อนนโยบายการส่งเสริมสิทธิเด็ก การคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยรอบด้านของเด็กในกรุงเทพมหานคร” พร้อมพูดคุยเรื่องสิทธิเด็กและความปลอดภัยในเด็ก เนื่องในโอกาสวันเด็กสากล (World Children’s Day) และวันครบรอบ 30 ปี ที่ประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กว่า

9 ร.ร.สังกัดกทม.นำร่อง พัฒนาคุ้มครองสวัสดิภาพ-ความปลอดภัยเด็ก

กรุงเทพมหานคร ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคมและตัวแทนเยาวชน ขับเคลื่อนนโยบายการส่งเสริมสิทธิเด็ก การคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยรอบด้านของเด็กในกรุงเทพมหานคร โดยกำหนดเป้าหมายไว้ว่าเด็กทุกคนในกรุงเทพมหานคร จะได้รับการเคารพ ปกป้องคุ้มครอง ส่งเสริมสิทธิเด็ก  โดยจะมีการสร้างและพัฒนาระบบกลไก บุคลากรของหน่วยงาน กทม. ในทุกระดับ ครอบคลุมทุกพื้นที่ และเด็กทุกคนใน กทม. โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ซึ่งที่มาของการขับเคลื่อนประเด็นนี้เกิดจากสถานการณ์การละเมิดเด็กที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ตรงกัน รวมทั้งเด็กในฐานะผู้ทรงสิทธิและผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงได้สะท้อนในเวทีมหกรรมเด็กและเยาวชน BKK-เรนเจอร์ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยเด็ก ๆ ได้สะท้อนถึงการละเมิดสิทธิเด็กในโรงเรียน ว่ายังมีการทำโทษที่รุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการตรวจวินัยตามมาตรฐานเดิมในอดีต

 

ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลการสำรวจ MICS 6 พบว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี เคยถูกลงโทษด้วยวิธีรุนแรงเพื่อการอบรมสั่งสอนถึงร้อยละ 58 จากค่าเฉลี่ยทั่วประเทศ

รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า กทม. ให้ความสำคัญเรื่องเด็กและเยาวชนเป็นอย่างมาก เพราะเรามองว่า เด็กคือปัจจุบันและอนาคตของชาติ ดังนั้นหากเด็ก ๆ ได้รับการพัฒนา คุ้มครอง และส่งเสริมการมีส่วนร่วม ไม่ว่าในทางพลเมือง การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ย่อมเป็นหลักประกันที่สำคัญต่ออนาคตของเมืองและประเทศ และบรรลุความมุ่งหมายอันสูงสุดสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนั้น กทม. มีเป้าหมายที่จะมุ่งไปสู่เมืองที่เคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิและความปลอดภัยของเด็ก โดยมุ่งให้ทุกหน่วยงานในสังกัด กทม. มีนโยบายคุ้มครองเด็ก พัฒนาระบบและกลไกคุ้มครองเด็ก และเจ้าหน้าที่ประสานงานสิทธิและการคุ้มครองเด็ก

 

โดยในปี 2566 นี้ กทม. จะเริ่มต้นนำร่องในโรงเรียน 9 แห่ง และศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน 3 แห่ง ในสังกัด กทม. รวมทั้งหน่วยงานระดับสำนัก เช่น สำนักการศึกษาและสำนักอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งปรับปรุงและออกประกาศ คำสั่ง ที่เกี่ยวข้องกับเด็กบนฐานสิทธิเด็ก คุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยรอบด้านของเด็ก และเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีการดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง ประการสำคัญ กทม. จะจัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนสิทธิเด็กและความปลอดภัยของเด็ก

 

พร้อมทั้งจะจัดทำแนวทางปฏิบัติระดับโรงเรียน โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของเด็กและผู้ปกครอง ให้เด็กทุกคนได้รับการคุ้มครองตามนโยบายคุ้มครองเด็ก (Child Safeguarding Policy) เป็นสำคัญ อีกทั้งสำหรับเด็กเองนั้น จะส่งเสริมให้เด็กได้รับการเรียนรู้ด้านสิทธิเด็ก สิทธิมนุษยชน การป้องกันคุ้มครองตนเองจากภยันตรายและความรุนแรงทั้งทางกายภาพ และภัยจากสื่อต่างๆ และบรรจุประเด็นการส่งเสริมสิทธิเด็กเข้าเป็นนโยบายสำคัญข้อที่ 216 ของกรุงเทพมหานคร

 

"เพราะเด็กคือสมบัติอันล้ำค่าที่สุดของเมือง เราต้องจริงจังกับคนที่จะอยู่กับเมืองในอนาคต โดยอาศัยหลายภาคส่วน และความเข้มงวดจากผู้บริหาร ในเรื่องสิทธิและความปลอดภัยของเด็ก ซึ่งเป็นรากฐานของมนุษย์ทุกคน และเป็นสมบัติอันล้ำค่าที่สุดของเมืองทุกเมือง" รองฯศานนท์ กล่าวเสริม