“CEA” ผุด 3 เส้นทางท่องเที่ยวสร้างสรรค์ใน กทม. ดัน ศก. โตกว่า 200 ล.รับ APEC 2022

13 พ.ย. 2565 | 09:46 น.
อัปเดตล่าสุด :13 พ.ย. 2565 | 16:46 น.

“CEA” ผุด 3 เส้นทางท่องเที่ยวสร้างสรรค์ใน กทม. ดัน ศก. โตกว่า 200 ล.รับ APEC 2022 ชูไอเดียสร้างสรรค์ ผสมผสานเทคนิคของแสงและสี ความงดงามศิลปวัฒนธรรมไทย

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ได้ดำเนินการร่วมกับ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กรุงเทพมหานคร และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB จัดเทศกาลการท่องเที่ยวแหล่งใหม่ในกรุงเทพฯ โครงการ UNFOLDING BANGKOK ภายใต้ 3 ธีมหลัก ประกอบด้วย 

 

‘Hidden Temple’ ท่องวัดลับ ใน 3 กลุ่มวัด ที่มีคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ โดยนำเทคโนโลยีการจัดแสดงแสงสี ติดตั้งบนสถาปัตยกรรม เพื่อให้เกิดมุมมองมิติของความสวยงามของสถาปัตยกรรมไทยที่ทรงคุณค่า พร้อมไปกับการจัดแสดงและการละเล่นของนักสร้างสรรค์และ ชุมชน  (Performing Art) เช่นการแสดงกระตั้วแทงเสือ  การแสดงเชิดสิงโต  ชมศิลปะแทงหยวก การแสดงหุ่นกระบอกจีน รำกระบี่กระบอง เป็นต้น โดยเริ่มจากโปรแกรมท่องเที่ยว วัดอินทาราม

 

วัดจันทารามและวัดราชคฤห์ ย่านตลาดพลู จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 – 20 พฤศจิกายน 2565 และตามด้วยโปรแกรมของวัดภุมรินทร์ราชปักษี-วัดดุสิดาราม ย่านบางกอกน้อย ระหว่างวันที่ 10 - 18 ธันวาคม 2565 และวัดพระยาศิริไอยสวรรค์-วัดสวนสวรรค์ และ วัดคฤหบดี ย่านบางยี่ขัน วันที่ 24-31 ธันวาคม 2565

‘Greeting Benjakitti’ เที่ยวสวนป่ากลางเมือง ได้ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร และ สถาบันอาศรมศิลป์ ซึ่งจัดขึ้นที่สวนป่าเบญจกิติ แหล่งรวมพันธุ์ไม้พื้นเมือง และเป็นสวนสาธารณะแห่งใหม่ในกลางกรุงเทพฯ โดย CEA ร่วมกับศิลปิน ออกแบบและจัดทำเป็นประติมากรรมในพื้นที่สวน ด้วยรูปแบบ Art  Installation  ที่มีมิติความกลมกลืนกับระบบนิเวศในสวนป่าเบญจกิติ เพื่อให้ผู้เข้าเยี่ยมชมสวน สามารถใช้ประโยชน์จากงานประติมากรรมในรูปแบบ Universal Design ที่มีฟังก์ชั่นการใช้งานได้ทุกเพศ ทุกวัย พร้อมจัดกิจกรรมการแสดง Performing Art และกิจกรรมเวิร์คช็อป โดยเปิดให้ผู้ที่สนใจ และประชาชนสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม ถึง 26 กุมภาพันธ์ 2566

 

‘Living Old Building’ ย้อนรอยอาคารประวัติศาสตร์ ทาง CEA ร่วมกับ Urban Ally คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กลุ่ม Lighting Designers Thailand (LDT) และ การรถไฟแห่งประเทศไทย ในการนำพื้นที่อาคารที่มีคุณค่าทางศิลปะและประวัติศาสตร์ มาปรับปรุงพื้นที่ในอาคารเก่า และอาคารอนุรักษ์ โดยการออกแบบ แสงสี (Lighting) เพื่อจัดแสดงโชว์ความสวยงามของอาคาร พร้อมจัดกิจกรรมภายในอาคารและนอกอาคาร เพื่อให้อาคารเก่ากลับมามีชีวิต และใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง เพื่อใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ อาทิ  อาคารสถานีรถไฟหัวลำโพง สำนักงานประปาแม้นศรี เป็นต้น

 

CEA ผุด 3 เส้นทางท่องเที่ยวสร้างสรรค์ใน กทม. ดัน ศก. โตกว่า 200 ล.รับ APEC 2022

 

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า โครงการ UNFOLDING BANGKOK เปิดประสบการณ์ใหม่กรุงเทพมหานคร นับเป็นแผนงานที่สอดรับกับนโยบายรัฐบาลที่ได้เปิดประเทศเต็มรูปแบบ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะต่างชาติที่ทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย 
 

อีกทั้ง ยังถือเป็นโอกาสอันดีที่แหล่งท่องเที่ยว ภายใต้โครงการฯ นี้ยังจะได้ต้อนรับคณะเจ้าหน้าที่และผู้เข้าร่วมประชุมในเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเซีย-แปซิฟิก (APEC 2022) ระหว่างวันที่ 16-19 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อการท่องเที่ยวของไทยอีกด้วย

 

ขณะนี้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้ทยอยเข้ามาท่องเที่ยวในไทยอย่างต่อเนื่อง จึงมั่นใจว่าทั้งปี 2565 จะมีต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในไทยไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน ได้ตามเป้าหมายและอาจจะมากกว่า ซึ่งการที่มีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลายจะส่งผลดีต่อภาพรวมของการท่องเที่ยว 

 

อย่างครั้งนี้ที่มีการออกแบบเส้นทางโดยนำเอาทุนทางวัฒนธรรม ศิลปะ และวิถีชีวิตมาต่อยอดด้วยความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาสู่แหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ ให้สอดรับกับบริบทของแต่ละพื้นที่ และเป็นจุดขาย สร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่และจะนำร่องไปยังพื้นที่อื่น ๆ จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา Soft Power  โดยเฉพาะความเป็นอัตลักษณ์ของไทยที่รัฐบาลมุ่งเน้นไปสู่เวทีระดับโลก 

 

ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการ CEA กล่าวว่า  CEA ในฐานะองค์กรเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เข้ามาดำเนินการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ ภายใต้โครงการ UNFOLDING BANGKOK เปิดประสบการณ์ใหม่กรุงเทพมหานคร 

 

โดยร่วมมือกับภาคีเครือข่าย อาทิ Urban Ally ศูนย์ข้อมูลสถาปัตยกรรมไทย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และมิตรเมือง ภาคีเครือข่ายย่านบางยี่เรือ-ตลาดพลู และชุมชน เป็นต้น ในการคัดเลือกสถานที่และแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณค่าแต่ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง โดยการนำความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ต่อยอดต้นทุนวัฒนธรรมและภูมิปัญญา 

 

ซึ่งมีเป้าหมายการสร้างรายได้และคุณภาพชีวิตของผู้คนในพื้นที่ เพื่อสร้างระบบนิเวศสร้างสรรค์ ที่ก่อให้เกิดบรรยากาศ สภาพแวดล้อม สะท้อนภาพลักษณ์ใหม่ของประเทศไทย โดยนำอัตลักษณ์ท้องถิ่นและของดีมาสร้างคุณค่าให้เพิ่มขึ้น เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวแนวใหม่ที่อยู่ในเมืองหลวงของไทย ที่สามารถท่องเที่ยวได้ทั้งกลางวัน และกลางคืน รวมไปถึงกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจระดับชุมชน และขยายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของกรุงเทพฯ โดยตั้งเป้าว่าการดำเนินงานตลอดโครงการจะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท