ศูนย์ FLEC โชว์กิจกรรม ขยะดี มีค่า ปกป้องธรรมชาติ สร้างรายได้แรงงานต่างชาติ

25 พ.ย. 2565 | 07:00 น.
อัปเดตล่าสุด :25 พ.ย. 2565 | 14:12 น.

ศูนย์ FLEC โชว์กิจกรรม“ขยะดี มีค่า” ร่วมจัดการปริมาณขยะอย่างถูกวิธี บรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ปกป้องธรรมชาติ สร้างรายได้แรงงานประมงต่างชาติ

ศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาลแรงงานประมงสงขลา (ศูนย์ FLEC) และเครือข่ายพันธมิตรภาครัฐ และเอกชน ดำเนินกิจกรรม “ขยะดี มีค่า” ชวนแรงงานประมงต่างด้าว และเรือประมง มีส่วนร่วมจัดการปริมาณขยะอย่างถูกวิธี บรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 


โดยในปีนี้ แรงงานประมงต่างด้าวและครอบครัวสามารถเก็บรวบรวมได้กว่า 800 กิโลกรัม นำรายได้จากการคัดแยกขยะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัวแรงงานประมงต่างชาติ พร้อมก้าวสู่ชุมชนต้นแบบจัดการปลอดขยะแบบครบวงจร สร้างผลดีต่อระบบนิเวศทางทะเล และยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานประมงข้ามชาติ


นางสาวนาตยา เพชรรัตน์ ผู้จัดการศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลสงขลา ในฐานะกรรมการศูนย์ FLEC กล่าวว่า ในปี 2565 ศูนย์ FLEC ร่วมกับองค์กรพันธมิตรภาครัฐ และเอกชน 7 องค์กร ประกอบด้วย องค์การสะพานปลา กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลสงขลา (บ้านสุขสันต์) บริษัท จีอีพีพี สะอาด จำกัด บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ จีซี และ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ 

                               ศูนย์ FLEC โชว์กิจกรรม ขยะดี มีค่า ปกป้องธรรมชาติ สร้างรายได้แรงงานต่างชาติ
ริเริ่มและดำเนินกิจกรรม “ขยะดี มีค่า” ขึ้น สร้างการมีส่วนร่วมของแรงงานประมงต่างชาติและสมาชิกในครอบครัวเข้ามาจัดการปัญหาขยะในชุมชนและทะเล ยึดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อลดปริมาณขยะสู่กระบวนการฝังกลบ และสร้างรายได้ให้กับแรงงาน 


กิจกรรมในปีแรก เน้นการถ่ายทอดองค์ความรู้การจัดการขยะที่ถูกวิธีให้แก่แรงงานประมงและสมาชิกครอบครัว โดยศูนย์ FLEC ทำหน้าที่รวบรวมและขายขยะ นำรายได้ซื้อของอุปโภคบริโภคที่จำเป็น เช่น น้ำมันพืช น้ำปลา สบู่ เป็นต้น จัดสรรให้กับแรงงาน ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายครัวเรือน  

                    ศูนย์ FLEC โชว์กิจกรรม ขยะดี มีค่า ปกป้องธรรมชาติ สร้างรายได้แรงงานต่างชาติ
ผลสำเร็จจากการดำเนินงานในปีแรก ครอบครัวแรงงานต่างชาติให้ความร่วมมือจัดเก็บและคัดแยกขยะอย่างแข็งขัน หนุนให้สภาพแวดล้อมชุมชนของแรงงานประมงและบริเวณท่าเทียบเรือประมงสงขลาดีขึ้น 


จากการดำเนินกิจกรรมตลอดทั้งปี 2565 แรงงานประมงต่างชาติมีความรู้จัดการขยะที่ถูกวิธี เปลี่ยนขยะให้เป็นของใช้ในครัวเรือน ลดค่าใช้จ่ายให้ครอบครัวแรงงาน เป็นพันธกิจของศูนย์ FLEC เสริมสร้างคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวแรงงานประมงต่างชาติ  และสร้างปราการป้องกันแรงงานต่างชาติและลูกหลานตกเป็นเหยื่อของกระบวนการค้ามนุษย์ และการใช้แรงงานผิดกฎหมายทุกรูปแบบ 

                       ศูนย์ FLEC โชว์กิจกรรม ขยะดี มีค่า ปกป้องธรรมชาติ สร้างรายได้แรงงานต่างชาติ
นอกจากนี้ ศูนย์ FLEC ยังได้รับการสนับสนุนจากองค์กรพันธมิตร ทั้งเรื่องอุปกรณ์ เครื่องมือ การถ่ายทอดองค์ความรู้การคัดแยกขยะ การจัดทำเป็นฐานข้อมูลขยะ เพื่อให้กิจกรรม ขยะดี มีค่า สามารถแก้ปัญหาขยะในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งช่วยลดขยะทะเลในทางอ้อมอีกด้วย


การดำเนินกิจกรรมในปีนี้ จีซี ได้สนับสนุนถังขยะสำหรับคัดแยกประเภทขยะ 12 ใบไว้ใช้ในการดำเนินกิจกรรม ในส่วนของ ซีพีเอฟ และ องค์กรพันธมิตรของศูนย์ FLEC ทุกองค์กรได้บูรณาการความเชี่ยวชาญ และเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายต่างๆ ภาครัฐ และเอกชน มาช่วยผลักดันให้กิจกรรมเดินหน้าตามเป้าหมาย และส่งเสริมให้แรงงานประมงต่างชาติและลูกหลานมีความรู้การคัดแยกขยะที่ถูกวิธี เกิดความตระหนักถึงความสำคัญของปัญหา และร่วมกันลงมือทำอย่างจริงจังจนเกิดผลสำเร็จที่ดี

                     ศูนย์ FLEC โชว์กิจกรรม ขยะดี มีค่า ปกป้องธรรมชาติ สร้างรายได้แรงงานต่างชาติ
ในปีหน้า ศูนย์ FLEC จะขยายความร่วมมือจากเรือประมงที่มาเทียบท่าช่วยรวบรวมขยะจากเรือและทะเลกลับคืนสู่ฝั่งให้มากขึ้น พร้อมทั้งหาแนวทางหรือเทคโนโลยีช่วยเพิ่มมูลค่าขยะ และแปรรูปขยะอาหารจากครัวเรือนเพื่อสร้างรายได้เสริมให้ครอบครัวแรงงานประมง ตั้งเป้าลดปริมาณของเสียเหลือทิ้งจากชุมชนสู่การฝังกลบให้เป็นศูนย์ (Zero Waste) สู่การเป็นศูนย์กลางเรียนรู้การจัดการขยะแบบมีส่วนร่วม จัดการขยะพลาสติกในท้องทะเล ดูแลระบบนิเวศทางทะเลและชีวิตของสัตว์ทะเลควบคู่กัน