ครม.เห็นชอบจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษานำร่อง 538 โรงเรียน  

29 พ.ย. 2565 | 09:45 น.
อัปเดตล่าสุด :29 พ.ย. 2565 | 16:46 น.

ครม. เห็นชอบจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษานำร่อง 538 แห่ง ใน กทม. และ 10 จังหวัด เพื่อยกระดับการศึกษาและลดความเหลื่อมล้ำสอดรับกับบริบทในพื้นที่

29 พฤศจิกายน 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในกรุงเทพมหานคร และ 10 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย แม่ฮ่องสอน กระบี่ ตราด สระแก้ว จันทบุรี ภูเก็ต สงขลา สุราษฎร์ธานี และอุบลราชธานี มีสถานศึกษานำร่อง รวมทั้งสิ้น 538 โรงเรียน

 

พื้นที่นวัตกรรมการศึกษานี้เป็นพื้นที่การปฏิรูปการบริหารและการจัดการศึกษาเพื่อสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมการศึกษาในพื้นที่ระดับจังหวัดซึ่งสถานศึกษานำร่องสามารถจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ได้มากยิ่งขึ้น

 

วัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง ดังนี้

1.คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมการศึกษาและการเรียนรู้เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียน

2.ลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา

3.กระจายอำนาจและให้อิสระแก่หน่วยงานทางการศึกษาและสถานศึกษานำร่อง

4.สร้างและพัฒนากลไกในการจัดการศึกษาร่วมกันระหว่างภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาสังคมในพื้นที่

ส่วนเกณฑ์การคัดเลือกจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พิจารณาจากความเหมาะสมและความพร้อมของจังหวัด การมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องและโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ ซึ่งมีกรุงเทพมหานคร และ 10 จังหวัด ที่ผ่านการคัดเลือก ดังนี้ 

1.กรุงเทพมหานคร รวม 54 โรงเรียน มีการกำหนดแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน เช่น

  • การคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ โดยปรับกรอบหลักสูตร อบรมพัฒนาครู เพิ่มทักษะ การใช้นวัตกรรมรูปแบบต่าง ๆ  
  • การให้อิสระกับสถานศึกษาในการวางแนวทางการบริหารบุคลากรและงบประมาณ
  • มีการจัดตั้งภาคีเครือข่ายด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้ของเด็ก กทม.

 

2.สุโขทัย รวม 20 โรงเรียน

  • มีการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยมุ่งเน้นไปที่เด็กด้อยโอกาส

 

3.แม่ฮ่องสอน รวม 19 โรงเรียน

  • มีการรวมกลุ่มเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา แก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูและผู้บริหารสถานศึกษา เพื่อช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสและผู้เรียนหลากหลายชาติพันธุ์

 

4.กระบี่ รวม 38 โรงเรียน

  • ส่งเสริมให้ผู้เรียนเข้าใจตนเองและเลือกการศึกษาต่อตามความถนัดและความสนใจ สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในพื้นที่ 

 

5.ตราด รวม 22 โรงเรียน

  • มีสถานศึกษาที่มีประสิทธิภาพด้านจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ

 

6.สระแก้ว รวม 30 โรงเรียน

  • ให้ความสำคัญกับการพัฒนาหลักสูตรของสถานศึกษา พัฒนาคุณภาพผู้เรียนทั้งด้านวิชาการ ทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ และลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในพื้นที่

7.จันทบุรี รวม 28 โรงเรียน

  • ปลดล็อกกฎระเบียบต่าง ๆ และมุ่งเน้นที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ส่งเสริมให้สถานศึกษาจัดการศึกษาด้วยตนเองโดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน

 

8.ภูเก็ต รวม 32 โรงเรียน

  • สร้างระบบการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาของพื้นที่และความต้องการของประชาชน เช่น มุ่งเน้นให้เด็กภูเก็ตทุกคนต้องพูดได้มากกว่า 2 ภาษา  และแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ

 

9.สงขลา รวม 13 โรงเรียน

  • มีสถานศึกษาที่มีผลลัพธ์การเรียนรู้ของเด็กอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมากเข้าร่วมโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองของ กสศ.

 

10.สุราษฎร์ธานี รวม 21 โรงเรียน

  • ยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและมุ่งเน้นให้ผู้เรียนทุกช่วงวัยมีการศึกษาอย่างเท่าเทียม ช่วยเหลือเด็กตกหล่นและเด็กที่มีปัญหา ให้ได้เข้าสู่ระบบการศึกษาอย่างเสมอภาค

 

11.อุบลราชธานี รวม 261 โรงเรียน 

  • จัดหลักสูตรที่ทันสมัยตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนตามสมรรถนะและบริบทของพื้นที่

 

การจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเกิดขึ้นมาตั้งปี 2561 โดยในปีนั้นกระทรวงศึกษาได้กำหนดให้ 6 พื้นที่ 8 จังหวัด เป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ประกอบด้วย สตูล ระยอง ศรีสะเกษ กาญจนบุรี เชียงใหม่ และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส รวม 539 โรงเรียน และมีผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา อาทิ

 

1.นราธิวาส มีการพัฒนาหลักสูตรอิสลามศึกษาเพื่อจัดการศึกษาบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม และลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงการศึกษา

 

2.สตูล มีการคิดค้นพัฒนานวัตกรรมโครงงานบนฐานวิจัย 14 ขั้นตอน ช่วยให้เด็กมีความสามารถด้านการคิด การสื่อสาร และนำความรู้ไปถ่ายทอดต่อ ให้ชุมชนได้

 

3.ระยอง มีการจัดตั้งสถาบันการเรียนรู้ของคนทุกวัย (Rayong Inclusive Learning Academy : RILA) เพื่อเป็นกลไกการบริหารจัดการเพื่อการขับเคลื่อนระบบนิเวศการเรียนรู้ของจังหวัด