รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า กรณีที่สื่อสังคมออนไลน์เผยแพร่ข้อความ “รถไฟฟีเวอร์? ผู้โดยสารโวยระบบจองตั๋วเต็มตั้งแต่นาทีแรกสงสัยใครจอง รวมถึงร้องว่าพบตั๋วผีรถไฟนั้น รฟท.ขอยืนยันว่าขั้นตอนการสำรองที่นั่งล่วงหน้าทุกช่องทางเป็นไปตามขั้นตอนตามระบบและให้บริการผู้โดยสารทุกท่านอย่างเท่าเทียม
ขณะเดียวกันจากการตรวจสอบการสำรองที่นั่งตามประเด็นในสื่อสังคมออนไลน์เบื้องต้นพบว่า ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2565 เป็นวันเปิดให้สำรองที่นั่งล่วงหน้าในวันหยุดช่วงเทศกาลปีใหม่วันแรก ซึ่งเป็นวันหยุดเทศกาลปีใหม่และเป็นวันหยุดยาวต่อเนื่องหลายวัน ทำให้การเดินทางในช่วงดังกล่าวได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมาก แม้จะมีการเพิ่มตู้โดยสารเต็มกำลังลากจูงแล้ว ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้โดยสาร รวมถึงช่องทางการสำรองที่นั่งของการรถไฟฯนั้นมีหลายช่องทาง จึงทำให้จำนวนที่นั่งเต็มในเวลาอันรวดเร็ว
สำหรับสถิติพบว่า ระหว่างวันที่ 27 – 29 พฤศจิกายน 2565 มีผู้ใช้บริการสำรองตั๋วโดยสารผ่านช่องทาง Call Center จำนวน 767 ที่นั่ง Mobile Application จำนวน 6,712 ที่นั่ง เว็บไซต์ dticket.railway.co.th จำนวน 7,398 ที่นั่ง และที่สถานีอีก 5,941 ที่นั่ง รวมทั้งสิ้น 20,818 ที่นั่ง
ส่วนกรณีการกันโควตาให้กับเอเยนต์ไปขายต่อให้ชาวต่างชาติมากจนเกินไปหรือไม่ นั้น รฟท.ไม่มีนโยบายในการกันโควตาให้กับเอเยนต์แต่อย่างใด การรถไฟฯให้บริการโดยมุ่งเน้นการให้บริการอย่างเท่าเทียมกัน
ทั้งนี้ในปัจจุบันการรถไฟฯ ได้เปิดให้สำรองที่นั่งล่วงหน้าได้ 30 วัน โดยผู้ใช้บริการ 1 ท่านสามารถสำรองที่นั่งล่วงหน้าได้สูงสุด 10 ที่นั่งต่อครั้ง ซึ่งมีช่องทางการสำรองที่นั่งล่วงหน้า 4 ช่องทาง ประกอบด้วย
1. ช่องจำหน่ายตั๋วโดยสาร จำนวน 581 ช่อง ที่สถานีรถไฟทั่วประเทศ (444 สถานี)
2. เว็บไซต์ : www.dticket.railway.co.th
3. ศูนย์บริการข้อมูลลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) หมายเลขโทรศัพท์ : 1690
4. Mobile Application : D-ticket