นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ตามที่การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้จัดทำแผนการเปิดใช้ “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” ซึ่งจะปรับเปลี่ยนสถานีต้นทางปลายทางของรถไฟทางไกล กลุ่มขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน และรถเร็วทุกสาย (ยกเว้นสายตะวันออก) จากสถานีกรุงเทพ(หัวลำโพง) เป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ การรถไฟฯ จึงได้เปิดให้บริการจำหน่ายตั๋วโดยสารรถไฟที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการปรับสถานีต้นทางปลายทางรถไฟทางไกลปรับเปลี่ยนสถานีต้นทางปลายทางของรถไฟทางไกล อำนวยความสะดวก และเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้ใช้บริการ พร้อมเปิดให้บริการในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565
ทั้งนี้สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ มีเคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋วโดยสารของระบบรถไฟทางไกล อยู่ในบริเวณชั้น 1 ฝั่งทางด้านทิศเหนือ ที่ให้บริการขบวนรถไฟทางไกล (ฝั่ง LD) และฝั่งทางด้านทิศใต้ อยู่ระหว่างระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้า MRT (ฝั่ง CT) โดยในเบื้องต้นจะเปิดให้บริการจำหน่ายตั๋วรถไฟทางไกล บริเวณด้าน CT ก่อน เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นจุดเชื่อมต่อกับผู้โดยสารที่เดินทางด้วยระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งสามารถอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารที่มีความประสงค์ซื้อและจองตั๋วโดยสารขบวนรถไฟทางไกล สามารถซื้อตั๋วโดยสารได้ทุกขบวน ทั้งตั๋วประจำวัน ตั๋วล่วงหน้า และตั๋วขบวนรถนำเที่ยวของรฟท.
สำหรับการเปิดให้บริการจำหน่ายตั๋วโดยสารรถไฟ ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จะส่งผลดีต่อประชาชน โดยเฉพาะการใช้บริการที่จะเพิ่มความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น มีทำเลที่ตั้งซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางใหม่ของกรุงเทพ มีรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเชื่อมต่อโดยตรง และใกล้จุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว สีม่วง สีชมพู อีกทั้งสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ยังอยู่ใกล้สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) มีรถโดยสารประจำทางเชื่อมต่อหลายสาย
ด้านสิ่งอำนวยความสะดวก เป็นสถานีรถไฟสร้างภายใต้แนวคิดการออกแบบเพื่อมวลชน (Universal Design) รองรับการใช้บริการที่สะดวกสบาย ปลอดภัย ครอบคลุมสำหรับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ความเพียงพอ และทันสมัยของห้องสุขา ระบบปรับอากาศของชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสารและที่พักรอ พื้นที่จอดรถยนต์ชั้นใต้ดินที่สามารถรองรับได้ 1,700 คัน และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ซึ่งสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตามรฟท.พร้อมที่จะดำเนินการพัฒนาศูนย์กลางการขนส่งทางรางของประเทศที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวมและประเทศชาติ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่มีความทันสมัย มีความสะดวก มีระเบียบ และสวยงาม ตลอดจนเป็นแลนด์มาร์คอีกแห่งของประเทศไทยต่อไป