เปิด 10 ปรากฏการณ์ “ดาราศาสตร์” น่าติดตามปี 2566

06 ม.ค. 2566 | 07:06 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ม.ค. 2566 | 14:06 น.

เปิด 10 ปรากฏการณ์ “ดาราศาสตร์” น่าติดตามปี 2566 มีอะไรบ้าง เกิดช่วงเวลาไหน มีวิธีการดูอย่างไร รวมไว้ให้แล้ว

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับปรากฎการร์ทางดาราศาสตร์ที่น่าติดตาม 10 เรื่องปี 2566 ประกอบด้วย 

 

1. ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี (Micro Full Moon)

 

  • 6 กุมภาพันธ์ 2566 ระยะห่างจากโลกประมาณ 405,818 กิโลเมตร เวลา 01:30 น. 
  • โดยคืนดังกล่าวจะสังเกตเห็นดวงจันทร์เต็มดวงมีขนาดปรากฏเล็กกว่าปกติเล็กน้อย 
  • เวลาที่เหมาะสมในการสังเกตการณ์ คือ ช่วงเย็นวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ตั้งแต่เวลาประมาณ 18:02 น. เป็นต้นไป
  • สามารถดูได้ด้วยตาเปล่า ทางทิศตะวันออก
     

 

2. ดวงจันทร์บังดาวศุกร์

 

  • คืนวันที่ 24 มีนาคม 2566 จะเกิดปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวศุกร์ เริ่มสังเกตการณ์ได้ในช่วงหัวค่ำทางทิศตะวันตก
  • วัตถุทั้งสองอยู่เคียงกันสูงจากขอบฟ้าประมาณ 32 องศา โดยดาวศุกร์จะเริ่มสัมผัสขอบดวงจันทร์ในเวลาประมาณ 18:37 น.
  • ดาวศุกร์ค่อย ๆ ลับหายไปด้านหลังของดวงจันทร์ และโผล่พ้นออกมาทั้งดวงอีกครั้งในเวลาประมาณ 19:46 น. อยู่สูงจากขอบฟ้าทิศตะวันตกประมาณ 16 องศา (ข้อมูลดังกล่าวคำนวณจากพื้นที่กรุงเทพมหานคร หากสังเกตการณ์ในพื้นที่อื่น ช่วงเวลาของการบังอาจจะเริ่มและสิ้นสุดไม่พร้อมกัน)
  • ดวงจันทร์บังดาวศุกร์ ถือเป็นปรากฏการณ์ “ดาราศาสตร์” ที่หาชมยาก เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก และนานที ๆ จะสังเกตการณ์ได้ในประเทศไทย
  • หากชมผ่านกล้องโทรทรรศน์จะสังเกตเห็นดาวศุกร์ค่อย ๆ ลับหายไปหลังดวงจันทร์และค่อย ๆ โผล่พ้นออกมาทั้งดวงได้อย่างชัดเจน
  • ครั้งต่อไปที่สามารถสังเกตได้ในประเทศไทย คือวันที่ 14 กันยายน 2569
     

3. สุริยุปราคา

 

  • วันที่ 20 เมษายน 2566 จะเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาแบบผสม (Hybrid Solar Eclipse) เป็นสุริยุปราคาลำดับที่ 52/80 ชุดซารอสที่ 129
  • แนวคราสจะเคลื่อนจากมหาสมุทรอินเดียไปยังมหาสมุทรแปซิฟิก 
  • ส่วนใหญ่จะพาดผ่านมหาสมุทร แต่ก็พาดผ่านแผ่นดินบางส่วนที่เป็นเกาะใหญ่ ๆ ด้วย อาทิ ประเทศออสเตรเลีย ประเทศติมอร์ตะวันออก และประเทศอินโดนีเซีย (เกาะปาปัวและปาปัวตะวันตก)
  • ตั้งแต่เวลา 09:42 – 12:52 น. (ตามเวลาประเทศไทย) การเกิดคราสครั้งนี้ ดวงอาทิตย์จะถูกดวงจันทร์บดบังนานที่สุดเพียง 1 นาที 16 วินาที
  • สุริยุปราคาแบบผสม (Hybrid Solar Eclipse) เป็นสุริยุปราคาที่เกิดทั้ง 2 ประเภทในครั้งเดียว ได้แก่ สุริยุปราคาวงแหวน (Annular Solar Eclipse) และสุริยุปราคาเต็มดวง (Total Solar Eclipse) เนื่องจากโลกมีผิวโค้ง ทำให้แต่ละตำแหน่งบนโลกมีระยะห่างถึงดวงจันทร์ไม่เท่ากัน
  • ผู้สังเกตที่อยู่ไกลจากดวงจันทร์จะเห็นเป็นสุริยุปราคาวงแหวน ในขณะที่ผู้สังเกตที่อยู่ใกล้ดวงจันทร์มากกว่าจะเห็นสุริยุปราคาเต็มดวง
  • สำหรับประเทศไทยเห็นเป็นสุริยุปราคาบางส่วน ตั้งแต่เวลาประมาณ 10:30 – 11:33 น.
  • เห็นได้ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคใต้ แต่ละพื้นที่ดวงอาทิตย์จะถูกบดบังมากที่สุดไม่เท่ากัน ดังนี้

– กระบี่ (0.01%)

– นครศรีธรรมราช (0.32%)

– ตรัง (0.61%)

– พัทลุง (0.93%)

– สงขลา (1.77%)

– สตูล (1.77%)

– ปัตตานี (2.82%)

– ยะลา (3.22%)

– และนราธิวาส (4.06%)

รวมถึงบางส่วนของตราด (0.02%) อุบลราชธานี (0.1%) และศรีสะเกษ (0.01%)

4. จันทรุปราคาเงามัว

 

  • 6 พฤษภาคม 2566 สังเกตได้ในบริเวณทวีปเอเชีย ออสเตรเลีย ยุโรปตะวันออก ยุโรปใต้ แอฟริกา มหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรอินเดีย และแอนตาร์กติกา
  • สำหรับประเทศไทยเริ่มสังเกตได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 22.14 – 02.32 น. (เวลาท้องถิ่น ณ กรุงเทพมหานคร)
  • ดวงจันทร์จะเริ่มเคลื่อนเข้าสู่เงามัวของโลกตั้งแต่เวลาประมาณ 22.14 น. ของวันที่ 5 พฤษภาคม 2566 เข้าสู่เงามัวมากที่สุดเวลาประมาณ 00.23 น. ของวันที่ 6 พฤษภาคม 2566
  • จากนั้นจะค่อย ๆ เคลื่อนออกจากเงามัว จนสิ้นสุดปรากฏการณ์ในเวลาประมาณ 02.32 น.
  • ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัว เกิดจากดวงจันทร์โคจรเข้าไปในเงามัวของโลกบางส่วน ไม่ได้ผ่านเข้าไปในเงามืดของโลก ดวงจันทร์จึงไม่เว้าแหว่ง ยังคงมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงแต่มีความสว่างในส่วนที่อยู่ในเงามัวลดลงเล็กน้อยเท่านั้น จึงสังเกตด้วยตาเปล่าได้ไม่ชัดเจนนัก

 

5. ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี

 

  • 27 สิงหาคม 2566 ดาวเสาร์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ (Saturn Opposition)
  • หมายถึง ตำแหน่งที่ดวงอาทิตย์ โลก และดาวเสาร์ เรียงอยู่ในเส้นตรงเดียวกัน มีโลกอยู่ตรงกลาง
  • ส่งผลให้ดาวเสาร์อยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี ห่างประมาณ 1,310 ล้านกิโลเมตร
  • ในวันดังกล่าว เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ดาวเสาร์จะปรากฏสว่างทางทิศตะวันออก
  • สังเกตได้ด้วยตาเปล่า ตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า


6. ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี และเต็มดวงครั้งที่สองของเดือน (Super Blue Moon)

 

  • 31 สิงหาคม 2566 ระยะจากโลกห่างประมาณ 357,334 กิโลเมตร เวลา 08:37 น.
  • คืนดังกล่าวจะสังเกตเห็นดวงจันทร์เต็มดวงมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย
  • เวลาที่เหมาะสมในการสังเกตการณ์ คือ ช่วงเย็นวันที่ 30 สิงหาคม ตั้งแต่เวลาประมาณ 18:09 น. เป็นต้นไป
  • สามารถดูได้ด้วยตาเปล่า ทางทิศตะวันออก
     

7. จันทรุปราคาบางส่วน

 

  • 29 ตุลาคม 2566 สังเกตเห็นได้ในบริเวณทวีปยุโรป เอเชีย ออสเตรเลีย แอฟริกา อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ แปซิฟิก แอตแลนติก มหาสมุทรอินเดีย อาร์กติก แอนตาร์กติกา
  • สำหรับประเทศไทยเริ่มสังเกตได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 01.01 – 05.26 น. (เวลาท้องถิ่น ณ กรุงเทพมหานคร)
  • ในคืนดังกล่าว ดวงจันทร์เข้าสู่เงามัวของโลก เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัว เวลาประมาณ 01.01 น.
  • แสงสว่างของ ดวงจันทร์จะลดลงเล็กน้อย สังเกตด้วยตาเปล่าได้ค่อนข้างยาก จนกระทั่งเวลาประมาณ 02.35 น.
  • ดวงจันทร์เข้าสู่เงามืดของโลก เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน สังเกตเห็นดวงจันทร์เต็มดวง เว้าแหว่งไปทีละน้อย เงาโลกบังมากที่สุด เวลาประมาณ 03.14 น. ประมาณร้อยละ 6 ของเส้นผ่านศูนย์กลางดวงจันทร์
  • จนสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วนในเวลาประมาณ 03.52 น.
  • รวมเวลาเกิดจันทรุปราคาบางส่วนนาน 1 ชั่วโมง 17 นาที จากนั้นดวงจันทร์เข้าสู่เงามัวของโลกอีกครั้ง และสิ้นสุดปรากฏการณ์โดยสมบูรณ์ในเวลาประมาณ 05.26 น.
     

8. ดาวศุกร์สว่างที่สุดในรอบปี

 

  • เป็นช่วงที่ดาวศุกร์มีขนาดเสี้ยวค่อนข้างใหญ่ และโคจรห่างจากโลกในระยะที่เหมาะสม มีค่าอันดับความสว่างปรากฏมากถึง -4.6
  • หากสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์ดาวศุกร์จะปรากฏเป็นเสี้ยวคล้ายดวงจันทร์
  • สำหรับในช่วงวันอื่น ๆ แม้ดาวศุกร์จะมีเสี้ยวที่หนากว่า แต่ด้วยตำแหน่งอยู่ที่ห่างจากโลก ความสว่างจึงลดลงตามไปด้วย

 
ในปี 2566 ดาวศุกร์จะปรากฏสว่างที่สุด 2 ครั้ง ได้แก่

  • ช่วงหัวค่ำ ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2566 ปรากฏสว่างเด่น เห็นชัดเจนด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าจนถึงเวลาประมาณ 21.09 น.
  • ช่วงเช้า ในวันที่ 18 กันยายน 2566 ปรากฏสว่างเด่น เห็นชัดเจนด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลา 03.25 น. จนถึงดวงอาทิตย์ขึ้น

 

9. ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี

 

  • 3 พฤศจิกายน 2566 ดาวพฤหัสบดีจะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ (Jupiter Opposition)
  • หมายถึง ตำแหน่งที่ดวงอาทิตย์ โลก และดาวเสาร์ เรียงอยู่ในเส้นตรงเดียวกัน มีโลกอยู่ตรงกลาง
  • ส่งผลให้ดาวพฤหัสบดีอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี ห่างจากโลกประมาณ 595 ล้านกิโลเมตร
  • ในวันดังกล่าว เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ดาวพฤหัสบดีจะปรากฏสว่างทางทิศตะวันออก
  • สังเกตได้ด้วยตาเปล่า ตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า
     

 

10.ฝนดาวตกน่าติดตามโดดเด่นที่สุดในปี 2566 ได้แก่

 

  • ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์

หรือฝนวันดาวตกวันแม่ ในคืนวันที่ 12 – เช้า 13 สิงหาคม
คาดการณ์อัตราการตกสูงสุด 100 ดวง/ ชั่วโมง

  • ฝนดาวตกเจมินิดส์

คืน 14 – เช้า 15 ธันวาคม
คาดการณ์อัตราการตกสูงสุด 150 ดวง/ ชั่วโมง
 

ที่มา : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ