เรียกเสียงฮือฮาในกลุ่มนักดาราศาสตร์และผู้ที่ชื่นชอบการดูดาวได้อย่างมาก เตรียมลุ้นชม ดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) ดาวหางที่ไม่เคยเห็นในรอบ 50,000 ปีที่นักดาราศาสตร์เพิ่งค้นพบเมื่อไม่นานมานี้ กำลังโคจรเข้าสู่ตำแหน่งใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด (Perihelion) ในวันที่ 12 มกราคม ค.ศ. 2023 และจะเข้าใกล้โลกมากที่สุดระหว่างวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์ นี้
นายวิมุติ วสะหลาย ฝ่ายวิชาการสมาคมดาราศาสตร์ไทย เปิดเผยข้อมูลระบุว่า ในระบบสุริยะที่มีดาวหางอยู่นับร้อยนับพันดวงนั้น ในแต่ละปี มีดาวหางนับสิบดวงเข้ามาเยือนในระบบสุริยะชั้นใน เมื่อดาวหางเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์จะส่องสว่างมากขึ้นและทอดหางยาวออกไปดูสวยงาม
ดาวหางบางดวงสว่างน้อย แม้จะเข้ามาใกล้ก็ยังต้องใช้กล้องโทรทรรศน์กำลังสูงจึงจะมองเห็นได้ แต่บางดวงก็สว่างพอที่จะใช้กล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กมองได้ หรือ บางดวงก็อาจสว่างถึงขนาดที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่น่าเสียดายที่ดาวหางที่สว่างระดับมองเห็นได้ด้วยตาเปล่ามาไม่บ่อยนัก บางปีก็อาจไม่มีเลย ดาวหางดวงล่าสุดที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า คือ ดาวหางนีโอไวส์ ซึ่งมาอวดโฉมให้ชาวโลกชมเมื่อกลางปี 2563
ในหน้าหนาวปีนี้ มีดาวหางเข้ามาเยือนดวงหนึ่งที่พอจะลุ้นได้ว่า อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ดาวหางดวงนี้มีชื่อว่า ซี/2022 อี 3 (แซตทีเอฟ) [C/2022 E3 (ZTF)] หรือ เรียกสั้น ๆ ว่า แซตทีเอฟ โดยนักดาราศาสตร์ค้นพบดาวหางดวงนี้ตั้งแต่ต้นปีที่แล้วขณะที่ยังอยู่ไกลถึงระยะของดาวพฤหัสบดี
ดาวหางแซตทีเอฟ มีคาบการโคจรราว 50,000 ปี หมายความว่า การมาเยือนรอบล่าสุดของดาวหางดวงนี้ คือ เมื่อ 50,000 ปีก่อน สมัยนั้นบรรพบุรุษของมนุษย์ยังอาศัยอยู่ร่วมกับนีแอนเดอทัลอยู่เลย แต่หลังจากการมาเยือนรอบนี้ผ่านไป วงโคจรจะเปลี่ยนไปเป็นวงเปิด นั่นหมายความว่า จะไม่วกกลับมาอีกเลยตลอดกาล นายวิมุติ วสะหลาย ฝ่ายวิชาการสมาคมดาราศาสตร์ไทย ระบุ
ตามเส้นทางการเคลื่อนที่ ดาวหางแซตทีเอฟจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 13 มกราคม 2566 โดยอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ 166 ล้านกิโลเมตร หลังจากวันดังกล่าว ดาวหางจะถอยห่างจากดวงอาทิตย์มากขึ้น แต่แนววิถีจะเข้าใกล้โลกมากขึ้น
คนบนโลกจึงเห็นดาวหางดวงนี้สว่างขึ้นและใหญ่ขึ้นด้วย คาดว่า ดาวหางแซตทีเอฟ จะสว่างที่สุดในในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันที่เข้าใกล้โลกมากที่สุด ในวันนั้น ดาวหางดวงนี้จะอยู่ห่างจากโลกเพียง 42 ล้านกิโลเมตร และคาดว่า อาจมีขนาดปรากฏใหญ่เท่ากับดวงจันทร์เลยทีเดียว
อย่างไรก็ดี แม้จะมีขนาดปรากฏใหญ่มากแต่ความสว่างก็ไม่มากนัก โดยนักดาราศาสตร์ประเมินว่า ดาวหางดวงนี้จะมีอันดับความสว่างมากที่สุดไม่น้อยกว่าอันดับ 5 (เลขยิ่งน้อยยิ่งสว่าง) ซึ่งเป็นไปได้น้อยมากที่จะมองเห็นดาวหางที่มีความสว่างระดับนี้ด้วยตาเปล่า แต่หากใช้กล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายต่ำก็น่าจะมองเห็นได้ไม่ยาก
แม้ตำแหน่งของดาวหางแซตทีเอฟ จะอยู่เหนือขอบฟ้าเกือบตลอดคืน แต่ในช่วงที่ดาวหางดวงนี้เข้าใกล้โลกมากซึ่งอยู่ในช่วงปลายเดือนมกราคมจนถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ท้องฟ้าจะถูกรบกวนด้วยดวงจันทร์ข้างขึ้นแก่ ๆ ทำให้ช่วงเวลาสังเกตดาวหางที่ดีต้องไปดูช่วงเช้ามืดเพื่อหลบดวงจันทร์ ในขณะนั้นดาวหางดวงนี้จะอยู่ในกลุ่มดาวยีราฟ ซึ่งอยู่ใกล้ขอบฟ้าทางทิศเหนือ เยื้องไปทางตะวันตกเล็กน้อย
ขณะที่ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) หรือ NARIT เปิดเผยข้อมูลผ่านเพจเฟซบุ๊กว่า ดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) นักดาราศาสตร์เพิ่งค้นพบเมื่อไม่นานมานี้ กำลังโคจรเข้าสู่ตำแหน่งใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด (Perihelion) ในวันที่ 12 มกราคม ค.ศ. 2023 คาดว่า ช่วงดังกล่าวดาวหางจะมีส่วนหางที่ฟุ้งกระจายและส่องสว่างมากที่สุด และจะเข้าใกล้โลกมากที่สุดระหว่างวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์
ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น ดาวหางจะสว่างเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หากสถานการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง อาจเป็นไปได้ที่จะสามารถสังเกตเห็นดาวหางดวงนี้ด้วยตาเปล่าได้จาง ๆ ในท้องฟ้าที่มืด
อย่างไรก็ดี เนื่องจากความสว่างของดาวหางเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ยากเพราะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และหลายครั้งที่ดาวหางมีความสว่างเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่สุดท้ายก็ยังไม่เพียงพอที่จะมองเห็นด้วยตาเปล่าได้ ทั้งนี้ ยังมีจังหวะนานหลายวันที่จะสังเกตเห็นผ่านกล้องสองตา หรือ กล้องโทรทรรศน์ในช่วงปลายเดือนมกราคมถึงต้นกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2023
ข้อมูลของนาซา ระบุว่า ผู้สังเกตที่อยู่บริเวณซีกโลกเหนือจะสามารถสังเกตดาวหางได้ในช่วงเช้ามืด ซึ่งกำลังปรากฏเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือในเดือนมกราคม จากนั้นดาวหางจะปรากฏให้ผู้สังเกตในซีกโลกใต้สังเกตได้ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมในการสังเกตดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) คือ วันที่ดวงจันทร์ไม่สว่างมาก (จันทร์ดับ หรือ ดวงจันทร์ปรากฏเป็นเสี้ยวบางๆ ) ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2023 จันทร์ดับจะตรงกับวันที่ 22 มกราคม ดังนั้น หากสภาพอากาศเอื้ออำนวย ฟ้าเปิดและไม่มีเมฆบัง จะสามารถสังเกตเห็นดาวหางในช่วงเวลาดังกล่าว บริเวณกลุ่มดาวมังกร (Draco)
ข้อมูลจากห้องปฏิบัติการเครื่องยนต์ขับเคลื่อนไอพ่น (JPL) ขององค์การนาซา สหรัฐอเมริกา พบว่า ดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) มีคาบการโคจรครบรอบนานประมาณ 50,000 ปี ซึ่งหมายความว่า การโคจรเข้ามายังระบบสุริยะชั้นในของดาวหางดวงนี้ครั้งล่าสุดอยู่ในช่วงท้าย ๆ ของยุคหินเก่า ตรงกับช่วงที่มนุษย์ยุคแรกเริ่ม (นีแอนเดอร์ทาล) อยู่อาศัยบนโลกในช่วงยุคน้ำแข็ง
ดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) ค้นพบโดยเครือข่ายกล้องตรวจท้องฟ้ามุมกว้าง Zwicky Transient Facility ในช่วงต้นเดือนมีนาคม ค.ศ. 2022 ในช่วงแรกวัตถุนี้มีค่าอันดับความสว่างปรากฏ 17.3
นักดาราศาสตร์สันนิษฐานว่า เป็นดาวเคราะห์น้อยซึ่งขณะนั้นโคจรอยู่ภายในวงโคจรดาวพฤหัสบดี ก่อนจะสว่างขึ้นจนนักดาราศาสตร์ทราบว่า เป็นดาวหาง มีค่าอันดับความสว่าง 10 ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2022 และคาดว่า ดาวหางดวงนี้อาจมีค่าอันดับความสว่างสูงสุดถึง 6 (ค่าอันดับความสว่างปรากฏ (Apparent Magnitude) เป็นค่าที่ใช้บอกความสว่างของวัตถุท้องฟ้า เป็นปริมาณที่ไม่มีหน่วย ยิ่งมีเลขน้อยจะยิ่งสว่างมาก ยิ่งมีเลขมากจะยิ่งสว่างน้อย)
ขอบคุณข้อมูลและภาพ จาก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ