บุหรี่ไฟฟ้า เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ที่โลกโซเชียลให้ความสนใจ หลังเกิดดราม่า สาวไต้หวัน ถูกตำรวจไทย รีดไถเงิน ขณะตั้งด่าน โดยอ้างถึงการมีบุหรี่ไฟฟ้าไว้ในครอบครอง และพบเห็นบุหรี่ไฟฟ้า วางขายและใช้กันอย่างแพร่หลายในกลุ่มวัยรุ่น จึงเกิดเสียงวิพากวิจารณ์ว่า ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าผิดหรือไม่
การควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย ยังไม่มีการตราหรือบัญญัติกฎหมายที่ใช้ควบคุมโดยตรง ใช้การออกประกาศหรือคำสั่งของผู้รับผิดชอบในส่วนราชการนั้น ๆเพื่อการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในขอบเขต
บุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมายหรือไม่
การนำเข้า
ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 ให้บุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงน้ำยาและสารหรือสารสกัดที่ใช้เพื่อเป็นแหล่งกำเนิดควันหรือไอประกอบการสูบ เป็น “สินค้าต้องห้าม” นำเข้ามาในราชอาณาจักร
ผู้ใดนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าหรือน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าจะต้องรับผิดตาม พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 มาตรา 20 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงินห้าเท่าของสินค้าที่นำเข้าหรือส่งออก หรือทั้งจำทั้งปรับ
การขายเเละบริการสินค้า
คณะกรรมการผู้บริโภคได้ออก คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า “บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า” มีใจความสำคัญ คือ กำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้าม ห้ามให้ผู้ใดขาย ให้เช่า ให้เช่าซื้อ ให้บริการ หรือจัดหาบุหรี่ไฟฟ้าให้ไม่ว่าด้วยประการใดๆ โดยเรียกค่าตอบแทนเป็นเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่น ตลอดจนการเสนอหรือการชักชวนดังกล่าว
ผู้ใดฝ่าฝืนขายบุหรี่ไฟฟ้า จะต้องรับผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 (ฉบับที่ 3) มาตรา 56 ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และในกรณีที่ผู้นำเข้าและผู้ขายเป็นคนเดียวกันจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
การครอบครอง
ทนายรณรงค์ แก้วเพชร ระบุในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า การครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า มีความผิดตามกฎหมาย ผู้ใดรับไว้โดยประการใดซึ่งของที่ต้องห้ามนำเข้า มีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับ 4 เท่าของราคา พร้อมภาษีที่ยังไม่ได้จ่าย ตามพระราชบัญญัติศุลกากร
การสูบในที่สาธารณะ
หากมีผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าในสถานที่สาธารณะที่ กำหนดให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ เช่น ในโรงเรียน โรงพยาบาล ตลาด ถือว่าฝ่าฝืน มาตรา 42 พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 ต้องระวางโทษ ปรับไม่เกิน 5,000 บาท