บุหรี่ไฟฟ้า เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันในโลกโซเชียลให้ความสนใจ และตั้งคำถามถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่ว่าเหมาะสมหรือไม่หลังดราม่าดาราไต้หวัน และเพราะอะไร “บุหรี่ไฟฟ้า” จึงเป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศไทย หากเป็นผู้ครอบครองจะได้รับโทษอย่างไรบ้าง และเสียค่าปรับเท่าไหร่
อ่านเพิ่มเติม : ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า ผิดกฎหมายหรือไม่
คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สคบ. ระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร หมายความว่า ผู้ครอบครองหรือรับฝากไว้ จะมีความผิดฐาน ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง ตามมาตรา 246 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560
มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1411/2564 ทั้งนี้ เมื่อบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้าม แม้จะไม่มีเจตนาหรือไม่รู้ว่าเป็นของมีความผิด ก็ต้องถูกริบให้ตกเป็นของแผ่นดินและนำไปทำลายตามกฎหมายของศุลกากร
ในทางกฎหมายมีการดำเนินคดีกับผู้ลักลอบจำหน่าย หรือให้บริการบุหรี่ไฟฟ้า บารากู่ หรือบารากู่ไฟฟ้าอย่างเด็ดขาด ผู้ใดพบเห็นการจำหน่ายหรือให้บริการบุหรี่ไฟฟ้า บารากู่ หรือบารากู่ไฟฟ้า สามารถแจ้งเบาะแส ได้ที่สายด่วน สคบ. 1166 (ในวันและเวลาราชการ) และ ผ่านระบบออนไลน์ ได้ที่ระบบร้องทุกข์ผู้บริโภค หรือ โมบายแอปพลิเคชัน “OCPB Connect” ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือแจ้งสถานีตำรวจในท้องที่