เปิดความเห็นปมย้ายหมอสุภัทร เสนอควบ 2 โรงพยาบาล

02 ก.พ. 2566 | 09:16 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.พ. 2566 | 09:19 น.

เปิดความเห็นปมย้ายหมอสุภัทร ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ เสนอควบ 2 โรงพยาบาล เพื่อพิสูจน์การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่ได้เป็นการกลั่นแกล้ง

ปมย้ายหมอสุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ยังคงเป็นที่สนใจของสังคม หลังมีคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข ย้ายข้าราชการ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) จะนะ ไปเป็นผู้อำนวยการ รพ.สะบ้าย้อย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สงขลา ให้มีผลตั้งแต่ วันที่ 25 มกราคม 2566 เป็นต้นไป โดยก่อนหน้านี้ นพ.สุภัทร เชื่อว่าการโยกย้ายครั้งนี้มีนัยยะทางการเมืองอยู่เบื้องหลัง  ลั่นฟ้อง ม.157

ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีระกูล รองนายกรัฐมนตรี เเละรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตอบปมคำสั่งย้าย หมอสุภัทร ว่าไม่ได้เกี่ยวกับการเมือง ไม่มีเรื่องกลั่นแกล้ง 

เรื่องนี้มีความเห็นมากมายหนึ่งในนั้นคือ ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ประธานหลักสูตร สาขาระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.)  เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งชมรมแพทย์ชนบทประมาณปี 2518 ซึ่งมีความสนิทสนมกับหมอสุภัทร โดยรู้จักกันตั้งแต่ในยุคต่อต้านพฤษภานองเลือดปี พ.ศ. 2535 เรื่อยมาจนถึงในยุคต่อต้านท่อแก๊ส จนมาถึงช่วงเวลาที่ได้ทำงานกับหมอสุภัทรมากที่สุด คือ ช่วงไฟใต้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ต่อเนื่องมานับสิบปี นอกจากนี้ ยังร่วมมือกันในเรื่องต่างๆ ที่เป็นประโยชน์เเละส่งเสริมพัฒนากำลังคนเพื่อการพัฒนาพื้นที่ 

 

นอกจากนี้ยังระบุว่า ความสนิทสนมทำให้เห็นด้านดี หมอสุภัทรเป็นคนกล้าหาญ เข้ากับมวลชนได้ดี การบริหารโรงพยาบาลทำได้ดี  ไม่เคยได้ยินเสียงตำหนิ ในช่วงเริ่มต้นการระบาดของโควิด หมอสุภัทรและทีมช่วยป้องกันการระบาดในช่วงนั้นได้ดี 

ในช่วง 2-3 ปีของการระบาดของโควิด ผมเห็นว่าทีมงานการเมืองทั้งท่านนายกรัฐมนตรีและท่านรองนายก ฯ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีสาธารณสุขด้วยทำงานประสานกันได้ดีมาก และประสานกับข้าราชการ นักวิชาการด้านสาธารณสุขตลอดจนกรมกองต่าง ๆ ได้ดีมาก น่าประทับใจ ท่านรัฐมนตรีมีอัธยาศัยดีเป็นกันเอง ทำให้ใคร ๆ อยากช่วยเหลือร่วมมือ แต่ถ้าใครมาต่อว่าท่านก็จะตอกกลับผ่านสื่อมมวลชนบ้างเหมือนกัน ส่วนคุณหมอโอภาส การย์กวินพงศ์ ท่านเป็นคนเอาการเอางาน สุขุม ติดตามงาน ในช่วงที่ท่านเป็นอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในยามดึกดื่นท่านก็ยังโทรศัพท์คุยกับผมในเรื่องห้องปฏิบัติการตรวจโควิดของโรงพยาบาลยะลา หลังจากเป็นอธิบดีกรมควบคุมโรค ท่านทำงานเข้ากับท่านรัฐมนตรีได้ดี จึงไม่แปลกใจว่าท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุขในที่สุด

ในส่วนของด้านที่ บางคนว่าถูก บางคนว่าผิด ศ.นพ.วีระศักดิ์  ระบุว่า หมอสุภัทรเป็นคนกล้า ไม่กลัวอำนาจ มีโอกาสที่จะทำอะไรที่ล้ำเส้นฝ่ายผู้มีอำนาจไปบ้าง ทีมงานจากชมรมแพทย์ชนบทมีบทบาทขัดแย้งกับกระทรวงสาธารณสุขส่วนกลางเป็นระยะ ๆ แพทย์ส่วนหนึ่งบางครั้งก็รู้สึกไม่ชอบใจ

นอกจากนี้ ในทางการเมือง หมอสุภัทรสนับสนุนคนรุ่นใหม่มากกว่ากลุ่มอนุรักษ์นิยม โดยธรรมชาติแล้วคนรุ่นใหม่ก็จะสร้างความสนใจจากสังคมโดยการแสดงออกอย่างแรง ๆ บางคนก็เห็นว่าเป็นธรรมชาติและสิทธิ์ของคนรุ่นใหม่ บ้างก็เห็นว่าเป็นกลุ่มก้าวร้าวและล้ำเส้นมากเกินไป คุณหมอสุภัทรไปช่วยน้อง ๆ เหล่านี้บ้างในบางโอกาส ทำให้มีทั้งคนรักและคนชัง รวมสองข้างแล้วอาจจะมากกว่าคนที่รู้สึกกลาง ๆ ซึ่งนี่ก็เป็นลักษณะทั่วไปของความขัดแย้งของการเมืองไทย

นอกจากทางการเมือง ได้ข่าวว่าหมอสุภัทรถูกตั้งกรรมการสอบสวน 5-6 กระทง เข้าใจว่าเรื่องทั้งหมดเกิดจากทางส่วนกลางรู้สึกว่าคุณหมอล้ำเส้นมากเกิน ผู้ใหญ่อาจจะมองว่าทำให้การบริหารสั่งการราชการไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากความเป็นมนุษย์ปุถุชน ฝ่ายการเมืองที่ยกย่องในเบื้องต้นว่าบริหารเรื่องโควิดได้ดีมาก ก็คงมี controversial เหมือนกัน ธรรมดานักการเมืองที่ถูกใจมหาชนมักจะต้องกล้าได้กล้าเสีย กล้าลุยในเรื่องที่ controversial เมื่อประเมินดูแล้วว่านโยบาย controversial แบบนั้นจะทำให้ฝ่ายตนชนะเลือกตั้งได้

เปิดความเห็นปมย้ายหมอสุภัทร เสนอควบ 2 โรงพยาบาล

ขอย้ำอีกครั้ง ใช้คำว่า controversial แปลว่าเป็นที่ถกเถียงกัน ไม่ได้แปลว่าถูกหรือผิด นโยบายทางการเมืองที่เป็น controversial จะไม่ให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยคัดค้านย่อมเป็นไปไม่ได้ การเมืองที่ใช้นโยบาย controversial ในเรื่องพืชที่อาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพย่อมได้รับการคัดค้านจากคุณหมอหลายฝ่าย หมอสุภัทรคัดค้านออกหน้าต่อนโยบายนี้ เป็นปรากฏการณ์ที่เข้าใจได้

สุนทรภู่ท่านสอนผ่านพระอภัยมณีที่สอนสินสมุทรว่า “อันวิสัยในพิภพแม้นรบกัน ย่อมหมายมั่นที่จะได้ชัยชนะ” ในที่สุดคุณหมอสุภัทร ก็เลยถูกผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเพิ่งจะเข้ามารับงานในพื้นที่ได้ไม่กี่วัน สั่งให้หมอสุภัทรย้ายออกจากฐานที่มั่นอำเภอจะนะให้ไปอยู่ที่อำเภอสะบ้าย้อย แยกน้ำออกจากปลา แยกนักเคลื่อนไหวออกจากมวลชน

เห็นว่าหมอสุภัทรร้องศาลปกครองว่าถูกกลั่นแกล้ง ฝ่ายการเมืองก็แจ้งสื่อมวลชนบอกว่าการโยกย้ายไม่ได้มาจากฝ่ายการเมือง เป็นเรื่องของข้าราชการประจำ คำสั่งย้ายลงนามโดยผู้ตรวจราชการสาธารณสุขภาคใต้ตอนล่างคนใหม่ หมอสุภัทรให้ความเห็นว่าเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง แต่ปลัดกระทรวง และ รัฐมนตรีบอกว่าไม่เกี่ยว ให้ไปถามผู้ตรวจราชการ

ถ้าเป็นกระทรวงอื่น เช่น มหาดไทย การโยกย้ายเป็นเรื่องธรรมดาด้วยเหตุผลที่ว่าอยู่นานแล้วอาจจะมีอำนาจในพื้นที่มากเกินไป สั่งย้ายเมื่อไหร่ต้องไปเลย ทั้งเจ้าตัวและมวลชนไม่ต้องต่อรอง แต่กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายชัดเจนอยู่แล้วว่าให้หมออยู่ชนบทประจำพื้นที่ได้จนเกษียณจะได้ทำให้การพัฒนาชนบทต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนใต้ที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง หน่วยงานสาธารณสุขเป็นหน่วยราชการที่ได้รับความยอมรับจากประชาชนมากกว่าหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งหมด

ในชายแดนใต้ มีหมอประจำอยู่ในโรงพยาบาลชุมชนในอำเภอต่าง ๆ แต่ละคนอยู่มาเป็นเวลานาน ทุกคนเป็นที่รักของมวลชน และเป็นแกนหลักที่ช่วยให้รัฐไทยเข้าได้ดีกับชาวบ้านมลายูที่มีวัฒนธรรมต่างจากชาวสยามส่วนใหญ่ การย้ายคนที่ชาวบ้านรักออกไปโดยที่เจ้าตัวไม่เต็มใจเป็นเรื่องที่ไม่ปรากฏมาก่อน

เหตุผลของการย้ายหมอสุภัทรไปประจำโรงพยาบาลอำเภอสะบ้าย้อยอีกประการหนึ่ง คือ สะบ้าย้อยอยู่ลึกเข้าไปในชุมชนมลายูต้องการให้คนเก่งอย่างหมอสุภัทรไปแก้ปัญหาพื้นที่ซึ่งยากลำบากกว่าอำเภอจะนะ แต่การย้ายทำในช่วงที่เจ้าตัวมีความขัดแย้งกับนักการเมืองและเจ้าตัวไม่เต็มใจ น่าจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี

"ผมก็ไม่ทราบว่าในที่สุดใครจะแพ้จะชนะ เดาว่าฝ่ายการเมืองและข้าราชการชั้นสูงน่าจะชนะในทางกฎหมาย แต่การชนะแบบนี้ก่อให้เกิดรอยร้าวหรือรอยตำหนิในทางการเมือง อยากได้นายกรัฐมนตรีที่ถ้าจะชนะการเลือกตั้ง ก็ต้องได้รับการยอมรับทางการเมืองจากคนส่วนน้อยทางชายแดนใต้ด้วย ในฐานะของนักสาธารณสุข ผมอยากได้ระบบการโยกย้ายข้าราชการสาธารณสุขที่มี legitimacy ผมเคยให้ความเห็นไว้แล้วว่า คำว่า legitimacy มีสองความหมายอยู่ในตัว ความหมายแรกแปลว่า ถูกต้องตามกฎหมาย ความหมายที่สองแปลว่าถูกต้องทำนองคลองธรรม ผมอยากเห็นการโยกย้ายในกรณีนี้มี legitimacy ทั้งสองอย่าง ไม่ใช่มีอำนาจตามกฎหมายแล้วก็สั่งการโดยไม่คำนึงถึงความชอบธรรม"

เรื่องที่หมอสุภัทรถูกกล่าวหา 5-6 กระทง ดูเหมือนเขาถูกกล่าวหาทำนองล้ำเส้นทางนโยบายและการบริหารของส่วนกลาง เขาไม่ได้ถูกกล่าวหาว่าทุจริตหรือใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบในพื้นที่ซึ่งต้องย้ายออกเพื่อให้สอบสวนได้สะดวก การโยกย้ายครั้งนี้จึงดูไม่ชอบธรรม

ส่วนแนวคิดที่จะให้หมอสุภัทรไปช่วยพัฒนาอำเภอสะบ้าย้อยเป็นเรื่องที่ดี เป็นเรื่องชอบธรรม เพราะอำเภอสะบ้าย้อยมีปัญหาสาธารณสุขมากกว่าอำเภอจะนะ แต่ย้ายโดยเขาไม่เต็มใจและทำให้เขาลำบากดูจะเป็นการลงโทษโดยไม่สมเหตุสมผล เกิดผลเสียมากกว่าผลดีทั้งต่อหมอสุภัทรที่จะต้องลำบากขึ้น และต่อรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง และผู้ตรวจราชการอันเป็นห่วงโช่ของอำนาจในกระทรวง Loss-loss ไม่ใช่ win-win รัฐมนตรีทำในสิ่งที่ความจริงแล้วไม่อยากทำ ปลัดกระทรวงและผู้ตรวจการขัดใจผู้บังคับบัญชาไม่ได้ เข้ามาในร่างแหความขัดแย้ง คุณภาพชีวิตส่วนตัวเลวลง

ผมมีข้อเสนอทางออก win-win ให้พิจารณา คือ ผมอยากเสนอให้ท่านผู้ทรงอำนาจพิจารณาให้หมอสุภัทรได้เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลควบสองอำเภอทั้งจะนะและสะบ้าย้อย เพื่อเป็นบทพิสูจน์ว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มิได้เป็นการกลั่นแกล้งแต่อย่างไร ห่วงโซ่อำนาจก็จะได้ความพอใจจากมวลชนในพื้นที่ด้วย

ผมเขียนเรื่องนี้และเสนอเรื่องนี้โดยไม่ได้ปรึกษาหมอสุภัทรแม้แต่น้อย ถ้าทางผู้ใหญ่จัดการให้คุณหมอควบสองอำเภอ ผมก็อยากจะขอร้องในฐานะรุ่นพี่ให้คุณหมอสุภัทรรับคำท้า ยอมเหนื่อยหน่อยเพื่อทำทั้งสองอำเภอให้เจริญยิ่งขึ้น ผนังทองแดงกำแพงเหล็กก็จะยิ่งมั่นคงขึ้น

ส่วนการถกเถียงรณรงค์ในเรื่อง controversial ทางนโยบายนั้นก็ต่างคนต่างทำภายใต้กติการัฐธรรมนูญเถิดครับ ถ้างานราชการไม่เสีย ความเห็นทางจะแตกต่างกันบ้างก็ไม่น่าจะเป็นไร ความถูกผิดของนโยบาย controversial ที่ว่านี้จะถูกตัดสินด้วยหลักฐานทางระบาดวิทยาในประเทศไทยในวันข้างหน้าไม่ใช่จากความเห็นของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่อย่างไร ทางคณะวิจัยในประเทศไทยจะหาคำตอบให้เอง

สุดท้ายนี้ ผมต้องขออภัยท่านผู้ใหญ่ในกระทรวงที่ผมเข้ามาให้ความเห็นในเรื่องนี้โดยไม่ได้รับเชิญ ผมเคยเรียนท่านรัฐมนตรีสมัยได้รับแต่งตั้งไปเป็นที่ปรึกษาเรื่องโควิดว่า คำปรึกษาทั้งหลายของผมที่ผมแจ้งต่อทีมที่ปรึกษาจะไม่เป็นความลับแม้แต่น้อย ถ้าผมจะทำประโยชน์ได้บ้างก็ควรมีความเห็นแตกต่างจากผู้อื่น และเผยแพร่สู่สาธารณะเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ความเห็นมีทั้งถูกและผิด ท่านจะเห็นด้วยหรือช่วยไม่ได้ก็แล้วแต่ ทั้งท่านและคุณหมอสุภัทรเป็นบุคคลสาธารณะและเป็นผู้นำที่จะทำให้สังคมดีขึ้นหรือเลวลง ผมเป็นแค่คนดูและเชียร์ท่านทั้งหลายอยู่ห่าง ๆ บางครั้งก็ออกเสียงเตือน ขออย่าถือสา

ฐานเศรษฐกิจ ตรวจสอบ ระบบสารสนเทศด้านข้อมูลสุขภาพจังหวัดสงขลา SIS ระบบบริหารเตียงของ โรงพยาบาลจะนะ ทุก Ward พบว่า มีเตียงผู้ป่วย 64 เตียง มีผู้ป่วย 49 ราย เตียงว่าง 15 เตียง  ขณะที่จากเว็บไซต์หลักของโรงพยาบาลจะนะระบุว่า  โรงพยาบาลจะนะ เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 72 เตียง ตั้งบนเนื้อที่ 7 ไร่ใจกลางเมืองจะนะ

มีเเนวคิดการปฏิบัติการติดตั้งโซลาร์โรงพยาบาลจะนะ เนื่องจากโรงพยาบาลมีค่า ไฟฟ้าเดือนละ 250,000 บาท ปีหนึ่งๆจ่ายค่าไฟฟ้าไม่ต่่ากว่า 3 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี การลดการจ่ายค่าไฟฟ้าลงจึงเป็นเป้าหมาย ซึ่งหมายความถึงการผลิต ไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์ร่วมกับการบริหารจัดการพลังงานวิธีอื่นๆอีกหลายกลยุทธ การลดค่าไฟฟ้าลงเป็น แสนบาทต่อเดือน จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้และเป็นไปแล้วที่โรงพยาบาลจะนะ

ขณะที่โรงพยาบาลสะบ้าย้อย ตั้งอยู่ ต.สะบ้าย้อย อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ข้อมูลในเว็บไซต์หลักระบุว่า มีเนื้อที่ทั้งหมด 17 ไร่ เปิดดำเนินการให้บริการรักษาพยาบาลเมื่อ วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2525 โดยเป็นโรงพยาบาลขนาด 10 เตียง และต่อมาได้ยกฐานะเป็น โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ขนาด 30 เตียง เมื่อเดือนมิถุนายน 2535

โรงพยาบาลสะบ้าย้อย ตั้งอยู่ใน อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา อันเป็น 1 ใน 4 อำเภอ ชายแดน ของจังหวัดสงขลา ที่มีเหตุการณ์ไม่สงบเกิดขึ้นบ่อย และจัดได้ว่าเป็นพื้นที่สีแดงโดยระยะทางระหว่าง โรงพยาบาลสะบ้าย้อย กับ โรงพยาบาลศูนย์หาดใหญ่ ห่างกัน ประมาณ 110 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาในการ ส่งต่อผู้ป่วย ประมาณ 1 ขั่วโมง และห่างจากโรงพยาบาลสงขลา ประมาณ 100 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาในการ ส่งต่อผู้ป่วย ประมาณ 1 ขั่วโมง และห่างจากโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ 102 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาในการ ส่งต่อผู้ป่วย ประมาณ 1 ขั่วโมงเช่นกัน โดยประชากรส่วนใหญ่ (70%) นับถือ ศาสนา อิสลาม และ 30% นับถือศาสนาพุทธ ส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพ เกษตรกรรม สวนยางพาราเป็นหลัก

ขณะที่ข้อมูล ระบบสารสนเทศด้านข้อมูลสุขภาพจังหวัดสงขลา SIS ระบุว่า โรงพยาบาลสะบ้าย้อยมี 45 เตียง มีผู้ป่วย 21 ราย เตียงว่าง 24 เตียง 

ข้อมูล : ระบบสารสนเทศด้านข้อมูลสุขภาพจังหวัดสงขลา SIS , โรงพยาบาลสะบ้าย้อย,โรงพยาบาลจะนะ