พลิกหน้า “ร่าง พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อ” ทำไมสภาวิชาชีพข่าวฯ คัดค้าน

04 ก.พ. 2566 | 17:00 น.

พลิกหน้า “ร่าง พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อ” กับเหตุผลว่าทำไมสภาวิชาชีพข่าวฯ คัดค้าน เเละร่างกฎหมายฉบับนี้มีสาระสำคัญอย่างไรบ้าง

ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน หรือ ร่าง พ.ร.บ.สื่อฯ กำลังเป็นที่จับตา หลังจากการเดินทางของร่างกฎหมายฉบับนี้มีการพิจารณาในวันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 แบบเร่งด่วน

ล่าสุดสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์คัดค้านร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .…ตามที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติผ่านร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .… เหตุผลก็คือ เปลืองงบประมาณ และมีการทำหน้าที่ทับซ้อนกับองค์กรวิชาชีพสื่อ  

ย้อนกลับไปเมื่อ ปี 2560 ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน เกิดเสียงสะท้อน จากคนในแวดวงสื่อมวลออกมาให้ความเห็นที่หลากหลายว่า “กฎหมายควบคุมสื่อ” 

กระทั่งวันที่ 11 มกราคม 2565 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบกับร่างกฎหมาย พ.ร.บ. การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน เรียกกัน ว่า พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อ 

ร่างกฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่กำหนดผู้รักษาการกฎหมายนี้คือ นายกรัฐมนตรี เป้าหมายเพื่อกำกับดูแลจริยธรรมของสื่อ แต่ไม่ได้กำหนดขอบเขตหรือลงรายละเอียดที่ชัดเจนของคำว่า "จริยธรรม" หรือ "ศีลธรรมอันดีของประชาชน" เเต่เนื้อหาหลักมุ่งไปที่การจัดตั้ง "คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน" 

นำไปสู่กังวลใจของคนทำงานสื่อว่าจะมีความทับซ้อนในการปฎิบัติหน้าที่กันหรือไม่ อีกทั้งในเรื่องของงบประมาณสนับสนุนก็มีการกำหนดให้ กสทช.เป็นผู้กำกับดูเเล เรื่องนี้จึงเป็นประเด็นที่ต้องจับตากันต่อไปว่าจะสามารถหาจุดร่วมกันได้อย่างไร 

 

สาระสำคัญของร่างกฎหมายคุมสื่อที่สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

1.ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมสื่อมวลชน แต่การใช้เสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยต้องเคารพและไม่ปิดกั้นความเห็นต่างของบุคคลอื่น

ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมีสิทธิปฏิเสธการปฏิบัติตามคำสั่งที่จะมีผลให้เป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมสื่อมวลชนโดยไม่ให้ถือว่าเป็นการขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา

สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เห็นว่าทำให้วัตถุประสงค์และภารกิจของหน่วยงานอยู่เหนือเสรีภาพในการน่าเสนอข้อมูลข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ

2.ตั้ง "สภาวิชาชีพสื่อมวลชน" มีอำนาจและหน้าที่จดแจ้งองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน คุ้มครองเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมสื่อมวลชนในการเสนอข่าวและความคิดเห็นพร้อมด้วยมาตรการสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืน กำกับดูแลการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนและองค์กรวิชาชีพให้เป็นไปตามจริยธรรมสื่อมวลชน ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายปีจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่น้อยกว่าปีละ 25 ล้านบาท

ถือเป็นการทับซ้อนกับการทํางานขององค์กรวิชาชีพสื่อแขนงต่างๆ และการกํากับดูแลสื่อของ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กสทช. ซึ่งมีบทบาทในการกํากับดูแล อีกทั้ง การที่ให้สภามีรายได้นั้น แม้ไม่มีการจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชน ทาง กสทช.ก็ต้องทําหน้าที่นี้อยู่แล้ว เพราะมีการกําหนดของ กสทช.ในการให้ทุน สนับสนุนต่อผู้ที่ยื่นขอและมีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์ และหากสื่อมวลชน ตรวจสอบการทํางานของรัฐบาลในอนาคต จะไม่ถูกตัดงบสนับสนับสนุนทั้งในทางตรงและทางอ้อม

3."คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน" มีกรรมการผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน จำนวน 5 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 คน โดยให้ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เป็นกรรมการ มีหน้าที่กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมสื่อมวลชนและพิจารณาการขอจดแจ้ง-เพิกถอนการจดแจ้งขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน

ถือว่าไม่ได้ยึดโยงกับทั้งสื่อมวลชนและประชาชนผู้บริโภคสื่ออย่างชัดเจน แต่กลับมีอํานาจ คัดเลือกคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนซึ่งจะมีบทบาทหน้าที่สําคัญ ซึ่งเป็นบทบาทสําคัญในการกําหนดทิศทางและความเป็นไปของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนว่าจะไปในทิศทางใด

4.กรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมสื่อมวลชนมีโทษ ตั้งแต่ตักเตือน ภาคทัณฑ์  ไปจนถึงตําหนิโดยเปิดเผยต่อสาธารณะ

ในความเป็นจริงบทลงโทษและเวลาในการพิจารณาโทษเป็นระเบียบบังคับอยู่ในองค์กรวิชาชีพสื่ออยู่แล้ว ขณะเดียวกันรายละเอียดของโทษก็ไม่ได้แตกต่างจากระเบียบข้อบังคับขององค์กรวิชาชีพสื่อ ที่สําคัญรัฐบาลตั้งคณะทํางานปฏิรูปสื่อมีคณะอนุกรรมการปฏิรูปสื่อกลไกในการขับเคลื่อนสื่อ จากการติดตามการทํางาน ทราบว่าในคณะอนุกรรมการมีการประชุม 3 ครั้ง มีมติไม่ต้องมีกฎหมายปฏิรูปสื่อ แต่ให้มีกลไกส่งเสริมการดําเนินการตามกฎหมายและหลักจริยธรรมขององค์กรวิชาชีพสื่อที่มีอยู่แล้วอย่างเข้มงวด