ที่ผ่านมารฟท.ได้ร่วมกับบริษัท ทรูมันนี่ จำกัด ดำเนินการติดตั้งเครื่องรับบัตรอัตโนมัติพร้อมใช้งาน 439 สถานี จำนวน 580 เครื่อง เช่น สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ สถานีกรุงเทพ เชียงใหม่ อุบลราชธานี หนองคาย ชุมทางหาดใหญ่ ชุมพร เป็นต้น เพื่อรองรับการชำระค่าตั๋วโดยสารด้วยระบบ Mobile Payment
ขณะเดียวกันการรับชำระค่าตั๋วรถไฟโดยสแกนผ่าน แอปพลิเคชัน ทรูมันนี่ วอลเล็ท บนสมาร์ทโฟน จะช่วยรองรับการใช้บริการของประชาชนที่มาใช้บริการให้ครอบคลุมและทั่วถึง
นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า หลังจากการรถไฟฯ เปิดจำหน่ายตั๋วและสำรองที่นั่งผ่านช่องทางออนไลน์แก่ผู้โดยสาร ผ่านเว็บไซต์ D-Ticket และแอปพลิเคชัน D-Ticket ทั้งระบบ Android และ IOS ผ่านระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งสามารถจองตั๋วโดยสารล่วงหน้าได้สูงสุด 30 วัน เพิ่มเติมจากการซื้อตั๋วโดยสารปกตินั้น
ทั้งนี้การรถไฟขอแจ้งปรับวิธีการชำระเงิน สำหรับผู้โดยสารที่จองตั๋วหรือสำรองที่นั่งผ่านทางเว็บไซต์ D-Ticket และแอปพลิเคชัน D-Ticket โดยจะต้องชำระเงินด้วยบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิตเท่านั้น เพื่อเปิดให้ผู้โดยสารหรือผู้ที่มีความจำเป็นในการเดินทางได้มีโอกาสจองตั๋วหรือสำรองที่นั่งในวันดังกล่าวได้ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป
ส่วนสาเหตุที่มีการปรับวิธีการชำระเงินนั้น เนื่องจากในปัจจุบันพบว่า มีผู้สำรองที่นั่งผ่านช่องทางออนไลน์และไม่นำรหัสการจองตั๋วมาชำระเงินภายในระยะเวลาที่กำหนดจำนวนมาก จนส่งผลให้ผู้โดยสารผู้อื่นขาดโอกาส ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ์การสำรองที่นั่งในช่วงระยะเวลาดังกล่าวได้ ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้โดยสารในการสำรองที่นั่ง และเป็นการกระจายโอกาสในการซื้อตั๋วโดยสารแก่ทุกคนอย่างทั่วถึง
สำหรับผู้โดยสารที่ไม่มีความประสงค์ ใช้บัตรเครดิต หรือบัตรเดบิต ซื้อตั๋วโดยสาร หรือสำรองที่นั่งผ่านระบบออนไลน์ ยังสามารถเลือกซื้อตั๋วโดยสารหรือสำรองที่นั่ง ได้ที่สถานีรถไฟ โดยเลือกชำระเงิน ได้ทั้งรูปแบบเงินสดหรือระบบทรูมันนี่ รวมถึงบัตรเครดิตและเดบิต ได้ทุกสถานีทั่วประเทศ