สธ.แจง มอบอำนาจผู้ตรวจฯ แต่งตั้งโยกย้าย ผอ.รพ.ชุมชน ตั้งแต่ปี 58

11 ก.พ. 2566 | 09:21 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ก.พ. 2566 | 09:33 น.

รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงการออกคำสั่งมอบอำนาจให้ผู้ตรวจราชการฯ ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558

วันนี้ (11 กุมภาพันธ์ 2566) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (ด้านบริหาร) และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการมอบอำนาจให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขปฏิบัติราชการในพื้นที่แทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข ว่า เรื่องนี้มีการดำเนินการมานานตั้งแต่ปี 2558

สธ.แจง มอบอำนาจผู้ตรวจฯ แต่งตั้งโยกย้าย ผอ.รพ.ชุมชน ตั้งแต่ปี 58

เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขได้ปรับการบริหารจัดการใหม่ในรูปแบบเขตสุขภาพ จึงมีการออกคำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ 1422/2558 มอบอำนาจให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข เช่น การสั่งอนุญาต อนุมัติการปฏิบัติราชการ, การตรวจราชการและติตตามประเมินผลในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ, การอนุมัติสั่งซื้อสั่งจ้างกรณีเกินกว่า 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท, การบริหารพัสดุและครุภัณฑ์โดยการให้ยืมภายในเขตพื้นที่

รวมถึงการแต่งตั้งโยกย้ายบุคลากรในเขตพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบ ประกอบด้วย 1.ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนระดับชำนาญการพิเศษหรือระดับเชี่ยวชาญ 2.นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) ในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 3.นายแพทย์เชี่ยวชาญในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป 4.นักวิชาการสาธารณสุขระดับเชี่ยวชาญ (ด้านส่งเสริมพัฒนาหรือด้านบริหารทางวิชาการ) ในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 5.รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป และ 6.หัวหน้าพยาบาล ระดับชำนาญการพิเศษในโรงพยาบาลทั่วไป หรือระดับเชี่ยวชาญในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป

 

นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า ต่อมาในปี 2564 ได้มีการออกคำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ 753/2564 เรื่อง มอบอำนาจให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1 เขตสุขภาพที่ 4 เขตสุขภาพที่ 9 และเขตสุขภาพที่ 12 ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุขในเขตสุขภาพ เนื่องจากมีการปฏิรูปการบริหารราชการในเขตสุขภาพ เพื่อให้เป็นไปตามแผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข อันจะก่อให้เกิดความคล่องตัวและตอบสนองการให้บริการด้านสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงในเขตสุขภาพ

โดยการมอบอำนาจที่มีการแก้ไข เช่น การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปครั้งหนึ่งเกิน 300 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 500 ล้านบาท การสั่งซื้อสั่งจ้างโดยวิธีการคัดเลือก หรือวิธีเฉพาะเจาะจง ครั้งหนึ่งเกิน 200 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 500 ล้านบาท

ส่วนการบริหารงานบุคคลมีการปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์มากขึ้น คือ เพิ่มอำนาจการบริหารกรอบอัตรากำลัง การคัดเลือกข้าราชการเพื่อแต่งตั้งดำรงตำแหน่ง ดังนี้ 1.ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (นายแพทย์) ระดับเชี่ยวชาญในโรงพยาบาลชุมชน 2.นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) ในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด3.นักวิชาการสาธารณสุขระดับเชี่ยวชาญ (ด้านส่งเสริมพัฒนา และด้านบริการทางวิชาการ) ในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 4.รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป และ 5.หัวหน้าพยาบาล (พยาบาลวิชาชีพ) / พยาบาลวิชาชีพ (ด้านการพยาบาลผู้ป่วยหนัก ด้านการพยาบาลผู้ป่วยผ่าตัด ด้านการพยาบาลอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ด้านการพยาบาลผู้คลอด และด้านการพยาบาลวิสัญญี) ระดับเชี่ยวชาญ ในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป

 “จากคำสั่งต่างๆ ที่ออกมาตั้งแต่ปี 2558 จะเห็นว่ามีการมอบอำนาจให้ผู้ตรวจราชการฯ ในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุขมานานแล้ว ทั้งตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน และตำแหน่งทางวิชาการในระดับเชี่ยวชาญ และชำนาญการพิเศษ ไม่ได้เพิ่งมีการมอบอำนาจการการแต่งตั้งโยกย้ายผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน ในปี 2566 กันอย่างที่เข้าใจ โดยในปีงบประมาณ 2564 - 2565 มีการแต่งตั้งโยกย้ายโดยผู้ตรวจราชการฯ รวม 21 ราย” นพ.ทวีศิลป์กล่าว