สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า (GISTDA) เผยแพร่ข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของระบบเวียร์ (VIIRS) พบว่า เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (12 ก.พ.) ไทยมี จุดความร้อน หรือ hotspot จำนวนถึง 3,097 จุด ในขณะที่จุดความร้อนของประเทศเพื่อนบ้านอย่างสาธารณรัฐสหภาพเมียนมายังคงครองอันดับหนึ่งที่ 3,372 จุด ขณะที่ สปป.ลาว 2,113 จุด และราชอาณาจักรกัมพูชา 973 จุด
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกันก่อนว่า...
จุดความร้อน หรือ hotspot คืออะไร สำคัญอย่างไร
GISTDA ให้คำอธิบายว่า จุดความร้อน ก็คือจุดที่ดาวเทียมตรวจพบว่า เป็นพื้นที่ที่มีค่าความร้อนสูงผิดปกตินั่นเอง
ดาวเทียมหลายดวงถูกพัฒนาระบบเซนเซอร์ให้มองเห็นค่าความร้อนบนผิวโลก สามารถตรวจวัดคลื่นรังสีอินฟาเรด หรือรังสีความร้อนที่เกิดจากไฟ ซึ่งเป็นจุดที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 800 องศาเซลเซียส บนพื้นผิวโลกได้ ภาพที่ได้จะถูกประมวลผลและแสดงให้เห็นในรูปแบบจุด ระบบเซ็นเซอร์ที่ใช้หาจุดความร้อนนั้นสามารถมองหาภาพใหญ่ขนาด 1 ตารางกิโลเมตร และเจาะรายละเอียดระดับพื้นที่เพื่อตีวงความร้อนที่เห็นให้แคบลงเพื่อเป็นประโยชน์ในการประเมินสถานการณ์และวางแผนควบคุมไฟป่าในภาพรวม
การบันทึกข้อมูลจุดความร้อนเมื่อดาวเทียมที่ใช้หาจุดความร้อนโคจรผ่านประเทศไทย ระบบของดาวเทียมจะส่งข้อมูลจุดความร้อนที่บันทึกได้ ซึ่งปกติ ประเทศไทยจะใช้ดาวเทียม Terra, Aqua, Soumi-NPP และ NOAA-20 สำหรับปฏิบัติการนี้ เพราะมีวงโคจรที่คล้ายกันคือโคจรผ่านประเทศไทยวันละ 2 รอบ แบ่งเป็นช่วงกลางวันและช่วงกลางคืน ดาวเทียมแต่ละดวงโคจรผ่านช่วงเวลาแตกต่างกันเพื่อให้ระบบสามารถตรวจสอบตำแหน่งของจุดความร้อน หรือไฟได้อย่างแม่นยำมากขึ้น หรืออธิบายในรายละเอียดก็คือ หากเป็นตำแหน่งที่ตรวจพบเป็นไฟป่าจริง ก็จะมีรังสีความร้อนทั้งในช่วงกลางวันและกลางคืน โดยให้ค่าสัมพันธ์กัน แต่หากจุดที่เซนเซอร์ตรวจพบเป็นการสะท้อนรังสีความร้อนจากหลังคาโรงงานหรือวัตถุขนาดใหญ่อื่นๆ เฉพาะในช่วงเวลากลางวัน ระบบก็อาจจะไม่นับว่าจุดความร้อนที่เห็นนั้นคือไฟ
อย่างไรก็ตาม การใช้ดาวเทียมหาจุดความร้อนก็ยังมีข้อจำกัดในการทำงาน โดยเฉพาะกรณีที่กลุ่มไฟขนาดเล็กและอยู่ใต้ต้นไม้ มีกลุ่มควันหนา หรือกลุ่มเมฆหนา ก็จะทำให้ไม่สามารถตรวจวัดรังสีความร้อนจากกลุ่มไฟในรูปแบบดังกล่าว อย่างไรก็ดี จุดความร้อนจากดาวเทียม ยังนับเป็นข้อมูลสำคัญที่ช่วยชี้เป้าให้เจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินมองเห็นพื้นที่ที่กำลังเกิดไฟป่า หรือเสี่ยงที่จะเกิดไฟ เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาวางแผนการทำงานได้สะดวกยิ่งขึ้น
ข้อมูลจุดความร้อนนั้นเปลี่ยนแปลงแบบรายวัน ซึ่งปัจจุบัน ประชาชนสามารถตรวจสอบจุดความร้อนทั่วประเทศไทยได้และทั้งนี้ จิสด้า ยังติดตามและรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นข้อมูลให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้บริหารจัดการในพื้นที่ ทุกท่านสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://fire.gistda.or.th
เมื่อตรวจพบแล้ว บ่งบอกอะไร
ล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (12 ก.พ.) ไทยมีจุดความร้อน จำนวนถึง 3,097 จุด ส่วนใหญ่สูงสุดพบในพื้นที่ต่างๆ ดังนี้
ทั้งนี้ จังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุด คือ ตาก 524 จุด เชียงใหม่ 407 จุด และลำปาง 365 จุด ตามลำดับ
จากภาพแสดงให้เห็นว่าจุดความร้อนยังคงกระจายตัวอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ โดยเฉพาะภาคเหนือที่มีปริมาณจุดความร้อนมากกว่าภาคอื่นๆ คาดว่า น่าจะเกิดจากการเตรียมพื้นที่เพื่อการเกษตร หรือการเข้าไปหาของป่า
นอกจากนี้ สิ่งหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวังที่มักจะมากับเหตุการณ์ไฟป่าและจุดความร้อน คือ ฝุ่นขนาดจิ๋ว PM 2.5 นั่นเอง
และที่เรามักจะพบได้บ่อยๆ ก็คือ สถานการณ์การจุดความร้อนจากประเทศเพื่อนบ้าน ยังอาจส่งผลให้เกิด PM 2.5 ได้ในพื้นที่บริเวณชายแดนเนื่องจากได้รับอิทธิพจากประแสลมที่จะพัดผ่านเข้ามา ปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ส่งผลกระทบระบบต่างๆ ของประเทศมาโดยตลอด โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจและระบบสังคม
ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยกำลังจะได้ใช้ระบบ THEOS-2 อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งหนึ่งในภารกิจสำคัญของระบบนี้ คือการสำรวจ วิเคราะห์ และติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้น ได้อย่างทันท่วงทีและแม่นยำ เพื่อการสนับสนุนข้อมูลสำคัญให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำข้อมูลไปใช้วางแผน ป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น
ขอบคุณข้อมูลจาก GISTDA