ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยในการประชุมโฟกัสกรุ๊ปเรื่อง "สางปม บุหรี่ไฟฟ้า หลากปัญหา รอวันแก้" ซึ่งจัดโดยมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ(มสส.)ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ว่า กฎหมายไทยกำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามทั้งการนำเข้า จำหน่ายหรือให้บริการ ในปี 2564
ทั้งนี้ มี 32 ประเทศทั่วโลกที่ประกาศใช้กฎหมายห้ามเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าจากที่ในปี 2557 มีเพียง 13 ประเทศเท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่าทั่วโลกตระหนักถึงพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าเพราะมีข้อมูลชัดเจน เช่น เด็กมัธยมปลายอเมริกันสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มจาก 1.5% ในปี2554 เป็น19.6%ในปี 2563
ประเทศนิวซีแลนด์เด็กอายุ14-15 ปี สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มจาก 1.9%ในปี 2560เป็น9.6 %ในปี 2564 ส่วนเด็กมัธยมต้นของไทยอายุ13-15 ปีสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มจาก3.3%ในปี2558เป็น8.1%ในปี 2564
อย่างไรก็ดี รายงานการวิจัยเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าทั่วโลกส่วนใหญ่สรุปว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายต่อหลอดเลือดและระบบทางเดินหายใจเพราะละอองลอยมีสารโลหะหนักหลายชนิด เช่น เหล็ก ทองแดง นิกเกิล สังกะสี โครเมี่ยม และตะกั่วที่กระตุ้นให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจ
นอกจากนี้ยังพบว่าสารนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายต่อพัฒนาการของสมองเด็กและวัยรุ่น บุหรี่ไฟฟ้าหลายยี่ห้อมีสารนิโคตินเท่ากับสูบบุหรี่ 20 มวน และบางยี่ห้อมีสารนิโคตินเท่ากับการสูบบุหรี่ถึง50 มวน
ส่วนข้ออ้างที่ว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ในการช่วยเลิกบุหรี่มวนนั้น ก็ไม่เป็นความจริง โดยในปี 2564 องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าหลักฐานที่บอกว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ช่วยเลิกบุหรี่ยังสรุปไม่ได้ ส่วนองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกายืนยันเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมาว่าไม่เคยรับรองให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ช่วยเลิกบุหรี่ เช่นเดียวกับกระทรวงสาธารณสุขออสเตรเลียก็ระบุว่ายังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะสนับสนุนให้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่
สอดคล้องกับงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี 2564-2565 ไม่มีข้อสรุปว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่ได้ อีกทั้งยังพบว่า 60 %ของคนสูบบุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่กลับมาสูบบุหรี่ชนิดมวนใหม่ ซึ่งองค์การอนามัยโลกระบุชัดเจนว่าปัญหาใหญ่สุดของบุหรี่ไฟฟ้าคือทำให้เด็กที่ไม่เคยสูบบุหรี่เข้ามาสูบบุหรี่ไฟฟ้าและเด็กที่เริ่มต้นสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีความเสี่ยงที่จะสูบบุหรี่ธรรมดามากกว่าเด็กที่ไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้า 2-4 เท่า
รวมทั้งคนที่เลิกสูบบุหรี่ธรรมดาไปแล้วจะกลับมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าแทน ดังนั้นสื่อมวลชนต้องช่วยกันเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้อง หาแนวทางการสื่อสารรูปแบบใหม่ๆที่เข้าถึงเด็กและเยาวชนอย่างมีประสิทธิภาพ มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ควบคุมการโฆษณาในสื่อสมัยใหม่ทุกรูปแบบเพราะบริษัทบุหรี่ไฟฟ้ามักใช้สื่อออนไลน์และสนับสนุนเงินในการจัดกิจกรรมดึงดูดกลุ่มเยาวชน
นายเลิศศักดิ์ รักธรรม ผู้อำนวยการส่วนบังคับคดี หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษ สคบ. กล่าวว่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคมีหมวดที่ว่าด้วยความปลอดภัยของสินค้าและบริการทำให้มีการออกคำสั่งของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า ดังนั้น ผู้ใดขายหรือให้บริการ โดยมีค่าตอบแทนรวมถึงการซื้อมาเพื่อขายต่อ มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ผู้นำเข้าบุหรี่ไฟฟ้ายังมีความผิดตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่ และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 5 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ กับให้ริบบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งสิ่งที่ใช้บรรจุและพาหนะใดๆ ที่ใช้ในการบรรทุกสินค้าบุหรี่ไฟฟ้านั้นด้วย และยังมีความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนผู้ครอบครองหรือรับฝากไว้ จะมีความผิดฐาน ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง ตามมาตรา 246 วรรคหนึ่ง มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ตาม สคบ.ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งตำรวจ กรมควบคุมโรค ออกตรวจสอบการขายบุหรี่ไฟฟ้า พบว่าส่วนใหญ่ไปขายกันในโลกออนไลน์ซึ่งเด็กและเยาวชนเข้าถึงได้ โดยสคบ.ได้ส่งข้อมูลไปยังกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิด เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ให้ดำเนินการทางกฎหมายกว่า 300 website ที่สำคัญมีการลักลอบนำเข้ามาตามแนวชายแดนเป็นจำนวนมากในขณะนี้จึงต้องบังคับใช้กฎหมายร่วมกันหลายหน่วยงานตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ
ที่ผ่านมา สคบ.ได้จับกุมผู้ขายในกทม. ที่ตลาดคลองถมถึง13 ครั้ง จับเท่าไรก็ไม่หมด หัวใจสำคัญคือต้องจัดการกับผู้นำเข้ารายใหญ่ซึ่งมีไม่กี่สิบรายและผู้ขายที่รับมาจากรายใหญ่แล้วกระจายอยู่ทั่วประเทศ ต้องบังคับใช้กฎหมายเด็ดขาดกับคน 2 กลุ่มนี้ควบคู่ไปกับการให้ความรู้ประชาชน โดยล่าสุด สคบ. ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วว่า จะมีการนำกฎหมายฟอกเงินมาบังคับใช้กับผู้ที่ลักลอบนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมายด้วย เพื่อให้เกิดความเด็ดขาด