วันช้างไทย เปิดยุทธศาสตร์ 4 ข้อแก้ไข ลดปัญหา คนกับช้างป่า อย่างยั่งยืน

13 มี.ค. 2566 | 13:28 น.
อัปเดตล่าสุด :13 มี.ค. 2566 | 14:03 น.

วันที่ 13 มีนาคม 2566 วันนี้วันช้างไทย กรมอุทยานฯเปิดยุทธศาสตร์ 4 ข้อ 3เป้าหมาย หวังแก้ไข ลดปัญหา คนกับช้างป่า อย่างยั่งยืน ด้านภาคเอกชน เตรียมเปิดโครงการให้ปางช้าง รับสมัครเพื่อพัฒนาสวัสดิภาพช้างให้ดีขึ้น

วันที่ 13 มีนาคมของทุกปี ถือเป็นวันช้างไทย ซึ่งช้างถือเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองคนไทยมาตั้งแต่อดีตจนมาถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ข้อมูลจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระบุว่า ปัจจุบันช้างป่ามีจำนวนประชากรอาศัยอยู่ตามธรรมชาติ ประมาณ 4,013-4,422 ตัว ในพื้นที่อนุรักษ์ฯจำนวน 91 แห่ง และแนวโน้มของช้างป่ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

 

จำนวนช้างป่าที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับพื้นที่ป่าอนุรักษ์หลายแห่งที่เป็นถิ่นอาศัยของช้างป่าถูกแบ่งแยกเป็นหย่อมป่า (Habitat Fragmentation) ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นปัจจัยหลักก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาที่ช้างออกมาทำลายพืชผลทางการเกษตรของราษฎรที่อาศัยใกล้ชิดตามแนวขอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งปัจจุบันปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างเกิดขึ้นในพื้นที่อนุรักษ์กว่า 49 แห่งทั่วประเทศ และปัญหาดังกล่าวยังมีแนวโน้มว่าจะขยายตัวและมีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต

วันช้างไทย เปิดยุทธศาสตร์ 4 ข้อแก้ไข ลดปัญหา คนกับช้างป่า อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และจัดการช้าง และเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2565 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้างเพื่อให้มีการบูรณาการความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินการอนุรักษ์ จัดการ และแก้ไขปัญหาช้างให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

 

ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการอนุรักษ์และจัดการช้างในภาพรวมเป็นไปอย่างมีระบบ เหมาะสมและยั่งยืน กรมอุทยานแห่งชาติฯ มีนโยบายเกี่ยวกับการจัดการช้างป่าและการบริหารจัดการพื้นที่ เพื่อการอนุรักษ์และการจัดการประชากรช้างป่าให้มีปริมาณที่สมดุล ขจัดปัญหาระหว่างคนกับช้างป่า คุ้มครองป้องกันการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับช้างป่า เกิดการอนุรักษ์และจัดการช้างป่าอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน ประกอบไปด้วย 4 ยุทธศาสตร์ 3 เป้าหมาย ได้แก่
 

ยุทธศาสตร์ที่ 1 : การเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและการจัดการช้างป่า ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวังป้องกันโดยการสร้างแนวตรวจการณ์ช้างป่าในพื้นที่วิกฤต, จัดจ้างพนักงานเฝ้าระวังช้างป่า,สร้างและปรับปรุงสิ่งกีดขวางเพื่อป้องกันช้างออกนอกพื้นที่, ส่งเสริมชุมชนในพื้นที่เสี่ยงสร้างแนวป้องกันช้างป่า รวมไปถึงจัดการและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านช้างป่า โดยการรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับช้างป่าตามแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน, องค์ความรู้ด้านการป้องกันตัวจากช้าง

 

ยุทธศาสตร์ที่ 2 : การรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ได้แก่ การสำรวจ ติดตามโครงสร้างประชากร การศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรม (DNA) รวมถึงการการศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมของการทำแนวเชื่อมต่อป่า (Corridor) และการประกาศพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม เป็นต้น

 

ยุทธศาสตร์ที่ 3 : การจัดการพื้นที่เพื่อคนและช้างป่า ประกอบไปด้วย การสำรวจและประเมินศักยภาพของพื้นที่, การศึกษาการจำแนกพื้นที่การใช้ประโยชน์ (Zoning) ในแต่ละพื้นที่, สร้าง ฟื้นฟู และปรับปรุงแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร รวมถึงการประเมินพื้นที่รองรับช้างที่มีปัญหา, เคลื่อนย้ายช้างป่าไปยังพื้นที่มีศักยภาพในการรองรับ

 

ยุทธศาสตร์ที่ 4 : การเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อความยั่งยืน ได้แก่ การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์ช้างป่า, การศึกษาและส่งเสริมรูปแบบการเกษตรที่เหมาะสม, การสร้างความเข้าใจกับประชาชน, ส่งเสริมการทำประกันทรัพย์สินและพิจารณาชดเชยความเสียหายที่เป็นธรรม

วันช้างไทย เปิดยุทธศาสตร์ 4 ข้อแก้ไข ลดปัญหา คนกับช้างป่า อย่างยั่งยืน
 

เป้าหมายที่ 1 : การพัฒนาพื้นที่ป่าอนุรักษ์ : ได้ดำเนินการร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมปศุสัตว์ ในการเร่งดำเนินงานฟื้นฟูป่า พัฒนาแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร ทั้งพืชอาหารช้าง ทุ่งหญ้าอาหารช้าง และโป่ง ให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อดึงช้างป่ากลับสู่ผืนป่าใหญ่ รวมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐและภาคประชาชน

 

เป้าหมายที่ 2 : การพัฒนาพื้นที่แนวกันชน : ที่ปัจจุบันช้างป่าใช้เป็นที่อยู่อาศัยทั้งอยู่ประจำและออกมาหากินเป็นครั้งคราวในช่วงฤดูแล้ง ได้ประสานงานกับกรมป่าไม้และกรมทรัพยากรน้ำในการดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำ แหล่งอาหารสำหรับช้างป่า ตามเส้นทางการเคลื่อนตัวของช้าง สร้างจุดพักช้างในป่าชุมชนเพื่อดึงดูดให้ช้างกลับคืนสู่ป่าใหญ่ รวมทั้งพัฒนาระบบติดตามและเฝ้าระวังช้างป่า


โดยจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Elephant smart early warning system) เพื่อกระจายข้อมูลไปยังเครือข่ายเจ้าหน้าที่และชุมชนต่าง ๆ โดยรอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยการจัดทำหรือสร้างสิ่งกีดขวาง ป้องกันช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ (รั้ว คูกั้นช้าง รั้วไฟฟ้า) ได้ดำเนินการไปแล้ว

 

เป้าหมายที่ 3 : การพัฒนาพื้นที่ชุมชน :ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า เริ่มต้นจากการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจให้แก่ชุมชนเรื่องพฤติกรรมของช้างป่าและการปฏิบัติต่อช้าง ทั้งท้องที่ ท้องถิ่นและประชาชน ในการอยู่ร่วมกันกับช้างป่า รวมทั้งสร้างเครือข่ายชุมชนอนุรักษ์ช้างป่า (เครือข่ายเฝ้าระวังช้างป่าและสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์) พัฒนาแหล่งน้ำชุมชนแยกจากแหล่งน้ำช้างป่า ส่งเสริมให้เกิดป่าชุมชนร่วมกับภาครัฐ สร้างกลุ่มอาสาสมัครเฝ้าระวัง ป้องกัน และแจ้งเตือนภัยจากช้างป่า เป็นต้น

วันช้างไทย เปิดยุทธศาสตร์ 4 ข้อแก้ไข ลดปัญหา คนกับช้างป่า อย่างยั่งยืน

นอกเหนือจากหน่วยภาครัฐฯที่ดูแลและมีแนวทางเกี่ยวกับช้างป่า ในส่วนของภาคเอกชน ก็มีการดำเนินการโครงการต่างๆ เกี่ยวกับช้าง อาทิ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ได้จัดทำโครงการต้นแบบพรุ่งนี้ที่ดีกว่า Build Back Better for Elephants


นายฉัตรณรงค์ เมืองวงษ์ ผู้จัดการแคมเปญสัตว์ป่า กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา องค์กรได้ขยายความช่วยเหลือปางช้างผ่านการให้เงินทุนงบประมาณ 2 ล้านบาท ผ่าน 'โครงการพรุ่งนี้ที่ดีกว่าของช้าง' (Build Back Better for Elephants) โดยล่าสุดปีนี้องค์กรฯ พร้อมเดินหน้าเปิดรับสมัครปางช้างทุกแห่งต้องการพัฒนาสวัสดิภาพช้างให้สูงยิ่งขึ้น เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับพรุ่งนี้ที่ดีกว่าของช้างที่เป็นจริงได้อย่างยั่งยืน

ภายใต้โครงการดังกล่าว ได้มีการสนับสนุนอาทิ 

  • การติดตั้งระบบน้ำบาดาลและการปลูกกล้วย ณ Sappraiwan Elephant Resort & Sanctuary จ.พิษณุโลก (พฤศจิกายน 2564 - พฤษภาคม 2565)
  • การปลูกกล้วย อ้อย และหญ้าเนเปียร์ ณ Elephant Peace Project จ.เชียงราย (พฤศจิกายน 2564 - พฤษภาคม 2565)
  • การทดลองเปลี่ยนโซ่ผูกช้างเป็นวัสดุสังเคราะห์น้ำหนักเบา ณ Somboon Legacy Foundation จ.กาญจนบุรี (กันยายน 2565 - ปัจจุบัน)
  • การก่อสร้างที่อยู่สำหรับช้างชราเพื่อช่วยเหลือช้างเพิ่ม ณ BEES - Burm and Emily's Elephant Sanctuary (ธันวาคม 2565 - ปัจจุบัน)

 

"เร็วๆนี้เราจะเปิดรับสมัคร 'โครงการพรุ่งนี้ที่ดีกว่าของช้าง' (Build Back Better for Elephants) ประจำปี 2566 โดยปางช้างทุกแห่งที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้จากเว็บไซต์และช่องทางโซเชียลมีเดียขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก" 

นายฉัตรณรงค์ เมืองวงษ์
 

ที่มาเรื่อง-ภาพ