“ปศุสัตว์” จ่อลงดาบปางช้าง ปล่อยปละละเลย ให้ช้างล้มตาย

01 มิ.ย. 2565 | 10:59 น.
อัปเดตล่าสุด :01 มิ.ย. 2565 | 19:53 น.

อธิบดีกรมปศุสัตว์ สั่งชุดปฏิบัติการพิเศษพญาไท สนธิกำลัง บก.คปภ.-บก.ปทส. ลงสอบปางช้าง ปล่อยปละละเลย ให้ล้มตายอีก จะถูกดำเนินคดีตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่ากรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแลด้านสุขภาพสัตว์และสวัสดิภาพสัตว์ เพื่อให้สัตว์มีสุขภาพที่ดีและมีการจัดการด้านการเลี้ยงดูแลเป็นตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ ได้สั่งการให้กองปฎิบัติการพิเศษและปราบปรามการกระทำความผิดด้านปศุสัตว์ (ชุดปฏิบัติการพิเศษพญาไท) กองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ

“ปศุสัตว์” จ่อลงดาบปางช้าง ปล่อยปละละเลย ให้ช้างล้มตาย

 

สถาบันวิจัยและบริการสุขภาพช้างแห่งชาติ ปศุสัตว์จังหวัดมหาสารคาม ปศุสัตว์อำเภอวาปีปทุม ร่วมกับ เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำหมายค้นศาลอาญาเข้าตรวจสอบ ณ ศูนย์อนุรักษ์ช้าง ช้างทองคำ เลขที่ 394/2565 ที่อยู่ 212 ตำบลนาข่า อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 นั้น

 

“ปศุสัตว์” จ่อลงดาบปางช้าง ปล่อยปละละเลย ให้ช้างล้มตาย

 

ผลจากการลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่ามีการเลี้ยงช้างเพศผู้ทั้งหมด 9 เชือก ปัจจุบันเหลือช้างเพศผู้อยู่เพียง 4 เชือก ได้แก่ พลายสงกรานต์ อายุ 7 ปี คะแนนร่างกาย ( body condition score ) = 3 คะแนน พลายจอนนี่ อายุ 39  ปี คะแนนร่างกาย ( body condition score ) = 2.5 คะแนน พลายดอย อายุ 35  ปี คะแนนร่างกาย ( body condition score ) = 2.5 คะแนน และพลายก้านกล้วย อายุ 14  ปี คะแนนร่างกาย ( body condition score ) = 2.5 คะแนน จากการตรวจสอบพบของทีมสัตวแพทย์

 

พบว่า ช้างทั้งหมด มีลักษณะร่างกายผอม ซี่โครงปรากฎเห็นได้อย่างชัดเจน เนื่องจากมีการให้อาหาร น้ำ อาหารเสริม และแร่ธาตุอย่างไม่เพียงในแต่ละวัน ซึ่งจากการตรวจสอบกายวิภาคเบื้องต้น ของสถาบันวิจัยและบริการสุขภาพช้างแห่งชาติ แจ้งว่า ช้างได้รับอาหารไม่เพียงพอ จึงมีร่างกายผอม ซึ่งช้างพลายจอนนี่ พลายดอย และพลายก้านกล้วย มีคะแนนร่างกาย 2.5 (คะแนนร่างกายปกติ=3) และไม่มีภาชนะใส่น้ำที่ช้างสามารถกินได้ตลอดทั้งวัน ในส่วนของการทารุณกรรมนั้นไม่พบการทารุณกรรมและไม่พบบาดแผลตามตัวช้าง

“ปศุสัตว์” จ่อลงดาบปางช้าง ปล่อยปละละเลย ให้ช้างล้มตาย

ในส่วนที่พักอาศัยของช้าง เป็นโรงเรือนขนาดใหญ่ มีหลังคาไว้กันแดด ฝน และมีบริเวณในการเลี้ยงช้างอย่างเหมาะสม พนักงานเจ้าหน้าที่จึงลงความเห็นว่า เป็นการกระทำความผิด โดยไม่ปฏิบัติตามหลักการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 มีโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท เจ้าหน้าจึงได้เสนอเปรียบเทียบความผิด ตามระเบียบกรมปศุสัตว์ ว่าด้วยการเปรียบเทียบตามกฎหมายว่าด้วยป้องกันทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2560 โดยให้ชำระค่าปรับ ณ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดมหาสารคาม ภายใน 15 วันนับจากวันที่เข้าตรวจสอบ โดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดมหาสารคามจะดำเนินการเข้าตรวจสอบหลังดำเนินการแก้ไขแล้วเสร็จ

“ปศุสัตว์” จ่อลงดาบปางช้าง ปล่อยปละละเลย ให้ช้างล้มตาย

อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง หากปางช้างไม่ปฏิบัติตาม หลักการจัดสวัสดิภาพสัตว์และปล่อยปะละเลยให้ช้างล้มตายอีก จะถูกดำเนินคดีตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการข้อมูลหรือแจ้งเบาะแสเพิ่มเติม โปรดติดต่อเจ้าหน้าที่หรือ www.dld.go.th หรือแอปพลิเคชัน DLD 4.0 หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225 -6888 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง