นายวราวุธ กล่าวว่า สาเหตุการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทย แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ การกัดเซาะชายฝั่งโดยธรรมชาติ เช่น คลื่น กระแสน้ำชายฝั่ง น้ำขึ้น น้ำลง ลมมรสุม พายุ และการกัดเซาะชายฝั่ง จากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การสร้างสิ่งก่อสร้างริมชายฝั่ง การสร้างรอดักทราย การสร้างเขื่อนกันทราย และคลื่นปากร่องน้ำ แต่การกัดเซาะชายฝั่งบริเวณบางขุนเทียน
สาเหตุไม่ได้มาจากระดับน้ำทะเลขึ้นสูง เพราะหลักเขตกรุงเทพมหานคร หลักที่ 28 ที่แบ่งพื้นที่ระหว่างเขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ กับ จ.สมุทรปราการ และหลักที่ 29 เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ กับ จ.สมุทรสาคร ที่กำหนดแนวเขตจังหวัดในอ่าวไทยตั้งแต่ปี 2502 ยังโผล่พ้นเหนือน้ำ และหากเกิดการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งสองหลักจะต้องจมอยู่ใต้น้ำ
นายวราวุธ กล่าวต่อว่า ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการร่วมกันเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืนอย่างเป็นระบบ และให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยมอบหมายให้ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ติดตาม และกำกับการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สาเหตุการทรุดตัวของแผ่นดิน โดยเฉพาะกรุงเทพฯ เป็นพื้นดินอ่อนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ บางส่วนอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง ประกอบกับในอดีตมีการสูบน้ำบาดาล และมีการก่อสร้างอาคารที่มีน้ำหนักมาก การถมคลองทำถนน
ทำให้พื้นที่รับน้ำที่เคยนั้นมีหายไป รวมถึงสถานการณ์โลกร้อนก็มีผลต่อทำให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นล้วนมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป็นเรื่องที่ทุกประเทศให้ความสำคัญ
“ปัจจุบัน กระทรวงทรัพยากรฯ อยู่ระหว่างปรับปรุงแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ หรือ UNFCCC : NAPs ภายใต้กรอบการดำเนินงานด้านการปรับตัวแคนคูน UNFCCC: Cancun Agreement เพื่อเป็นกลไก และวิธีการในการระบุความจำเป็น ต่อการปรับตัวในระยะกลาง และระยะยาว นำไปสู่การบูรณาการ การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้ากับนโยบาย แผนงาน และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบ และประกาศใช้ต่อไป”
นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดี กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า ภารกิจที่เกี่ยวข้องในเขตบางขุนเทียน ซึ่งเป็นพื้นที่ติดทะเลเพียงแห่งเดียวของกรุงเทพฯ ระยะทาง 7.11 กิโลเมตร อยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานคร มีสภาพพื้นที่เป็นหาดโคลน และอยู่ในแนวทางการฟื้นฟูเสถียรภาพชายฝั่ง (Coastal rehabilitation)
แม้จะมีการแก้ไขไปแล้ว แต่ก็ยังเกิดการกัดเซาะอยู่ประมาณ 2.60 กิโลเมตร ปัจจุบันมีโครงการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง หลายรูปแบบ เช่น การปักไม้ไผ่ชะลอคลื่น การปักเสาคอนกรีต เขื่อนหินป้องกันคลื่นนอกชายฝั่ง และเขื่อนหินทิ้ง เพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ทำให้แนวชายฝั่งในเขตบางขุนเทียนเริ่มปรับตัวเข้าสู่สมดุลใหม่ ไม่พบการเปลี่ยนแปลงแนวชายฝั่งในช่วง 3 ปีย้อนหลัง
นอกจากนี้ด้านการบริหารจัดการแนวชายฝั่งทะเลเขตบางขุนเทียน เพื่อลดปัญหากรุงเทพมหานครจมใต้น้ำ ได้ดำเนินการตามแผนงาน โครงการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561 โดยใช้แนวทางฟื้นฟูเสถียรภาพชายฝั่งเป็นหลัก เช่น
การกำหนดพื้นที่ถอยร่น การปลูกป่า และการปักเสาดักตะกอน มีการสนับสนุนการใช้แนวทางธรรมชาติในการจัดการปัญหาภัยธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน เช่นการฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่งดั้งเดิม การปลูกป่าชายเลนโดยภาครัฐ และเอกชน การสร้างแรงจูงใจในการปลูกป่าชายเลนในพื้นที่เอกสารสิทธิ และการจัดทำแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณชายฝั่งให้เหมาะสม และสอดคล้องกับการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง เป็นต้น