มหันตภัย Chernobyl ที่ซีเซียม-137 ลอยสู่สิ่งแวดล้อม

20 มี.ค. 2566 | 17:00 น.
อัปเดตล่าสุด :20 มี.ค. 2566 | 23:17 น.

ย้อนรอยเหตุการณ์มหันตภัยนิวเคลียร์ระเบิด Chernobyl โดยมีซีเซียม-137 ลอยสู่สิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพในระดับสูง

ประเด็นที่ ซีเซียม 137 หายไปที่จังหวัดปราจีนบุรี สร้างความกังวลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่น้อยในเรื่องความปลอดภัยต่อสุขภพของประชาชน แม้ในตอนนี้จะมีการยืนยันว่าตรวจพบแล้ว ที่โรงงานหลอมโลหะแห่งหนึ่งใน อ.กบินทร์บุรี เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 66 ที่ผ่านมา 

มีคำสั่งให้พนักงานในโรงงาน 70 กว่าคน หยุดงานชั่วคราว และให้เจ้าหน้าที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ แพทย์ พยาบาล เช็คประวัติและดูอาการ และตรวจเลือดกลุ่มเสี่ยง เเละกำลังสอบสวนเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด 

จากข้อมูลสมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย ระบุว่า ในการทดลองอาวุธนิวเคลียร์หรือเกิดอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ จะมีไอโซโทปรังสีซ๊เซียม-134 (caesium-134) และซีเซียม-137 (caesium-137) ถูกปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมเล็กน้อย และที่มากที่สุดมาจากอุบัติเหตุที่เชอร์โนบิล

รุ่งเช้าของวันที่ 26 เมษายน 2529 ย่านชานเมืองเชอร์โนนิล เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลระเบิด ส่งผลให้รังสีและสารเคมีอันตรายจำนวนมากแพร่กระจายสู่ชั้นบรรยากาศปกคลุมทั่วทั้งเมือง ครั้งนั้นเรียกได้ว่าเป็นอุบัติภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ รุนแรงระดับ 7 ทำให้เกิดการรั่วไหลของสารซีเซียม-137 เเละตกค้างอยู่ในระบบนิเวศ 

รายงานระบุว่า รัศมี 30 กิโลเมตร ซึ่งมีประชาชนอาศัยอยู่ราว 5-8 ล้านคน กลายเป็นเขตปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีเข้มข้น และแพร่กระจายไปอีก 14 ประเทศแถบยุโรป ไกลถึง ออสเตรีย สวีเดน ฟินแลนด์ นอร์เวย์ ซึ่งมีการตรวจพบสารปนเปื้อนทั้งในพืชพรรณ ธรรมชาติ ในเนื้อสัตว์ และนมวัว

ใครก็ตามที่รับสารพิษระดับที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายก็จะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงทีละน้อย เริ่มจากมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ผิวหนังไหม้โดยไม่ทราบสาเหตุ โดยในระยะไม่ถึง 5 ปี พบมีผู้ป่วยมะเร็งต่อมไทรอยด์ เพราะสารปนเปื้อนไอโอดีน-131 ที่แฝงมากับนมวัว ขณะที่ในปี พ.ศ. 2535 เด็กในยูเครนบางส่วนถูกพบป่วยเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์เพิ่มขึ้น 7 เท่า

 

ในรายงานระบุอีกว่า กัมมันตภาพรังสีของซีเซียม-137 มีค่าเท่าครึ่งชีวิตก็คือ 30 ปี แต่เมื่อถูกปล่อยไปอยู่ในสิ่งเเวดล้อมครึ่งชีวิตของมันกลับยาวนานถึง 180 – 320 ปี สอดคล้องกับข้อมูลของ นพ.สมรส พงศ์ละไม แพทย์ประจำศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา ที่ระบุว่า ซีเซียม 137 มีค่าครึ่งชีวิต 30 ปี ใช้เวลาในธรรมาชาติไม่ต่ำกว่า 100 ปี จึงจะสลายหมด 

นอกจากนี้ในเดือนเมษายนปี 2011 มีการพบไอโซโทปรังสีเหล่านี้ในฝุ่นควัน (plume) ที่รั่วไหลออกมาจากเครื่องปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้า Fukushima ประเทศญี่ปุ่น จากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่และคลื่นสึนามิถล่มญี่ปุ่นเเต่ความร้ายแรงและความเข้มข้นของสารซีเซียม-137 ที่ปล่อยออกมานั้นจะรุนแรงน้อยกว่าเหตุการณ์เชอร์โนบิล แต่ยังต้องมีการติดตามและศึกษาเพื่อให้แน่ใจว่ามันรุนแรงน้อยกว่าจริงหรือไม่ เพราะผลกระทบจากเหตุการณ์ชอร์โนบิลจากกัมมันตภาพรังสีมีผลต่อสิ่งแวดล้อมเเละร่างกายมนุษย์อย่างมาก 

เรื่องราวการระเบิดของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ในเชอร์โนบิล ได้ถูก HBO นำมาสร้างเป็นมินิซีรีส์ทั้งหมด 5 ตอน โดยได้ผู้กำกับ Johan Renck อีกด้วย 

มหันตภัย Chernobyl ที่ซีเซียม-137 ลอยสู่สิ่งแวดล้อม