นักวิจัยมทส.มีแนวทาง จัดการขยะบน‘เกาะท่องเที่ยว’

15 เม.ย. 2566 | 01:46 น.
อัปเดตล่าสุด :15 เม.ย. 2566 | 01:58 น.

เกาะท่องเที่ยวไทยโชว์ศักยภาพระดับโลกอีกแล้ว World Beach Guide จากอังกฤษ จัด 100 อันดับชายหาดที่ดีที่สุดในโลก ประจำปี 2566

มีชายหาดไทยติดอันดับด้วยถึง 5 แห่งอยู่ใน 50 อันดับแรก และเกาะกระดาน จ.ตรัง มาเป็นที่ 1

 แต่ยิ่งคนนิยมไปเที่ยวยิ่งเกิดปัญหาหนัก คือ ขยะ

งานวิจัย “การเพิ่มศักยภาพการจัดการขยะในพื้นที่เกาะท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” ของดร.พรรษา ลิบลับ อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เป็นทางออกหนึ่งที่ช่วยได้

ดร.พรรษา ลิบลับ เรียนจบปริญญาตรีวิศวกรรมเกษตร จากมทส. เมื่อปี 2545
 ไปต่อปริญญาโทด้าน Food Engineering and Bioprocess Technology จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และปริญญาเอก Bioresource Engineering จากมหาวิทยาลัย McGill จากแคนาดา

นักวิจัยมทส.มีแนวทาง จัดการขยะบน‘เกาะท่องเที่ยว’

กลับมาเป็นอาจารย์สาขาวิศวกรรมเกษตรที่ มทส. มีงานวิจัยด้านพลังงานชีวภาพและชีวมวลมากมาย

บนเกาะท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นขยะอินทรีย์ แต่ก็มีขยะที่ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ตกค้างจนล้นเกาะล้นเมือง ส่วนใหญ่เทกองริมทางแล้วเผาลดปริมาณเป็นครั้งคราว ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ไปทั่ว

แนวทางหนึ่งคือ นำขยะมาผลิตเป็นพลังงานทดแทนเชื้อเพลิง ได้ลดขยะและช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

จากการศึกษา รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลการจัดการขยะชุมชนของไทย พบว่าเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่เกาะคือ เทคโนโลยี Mechanical and Biological Treatment (MBT) เป็นเทคโนโลยีการผลิตขยะเชื้อเพลิง ซึ่งสามารถลดปริมาณขยะ ได้เชื้อเพลิงขยะ และปุ๋ยอินทรีย์

อาจารย์พรรษาร่วมออกแบบระบบบริหารจัดการขยะเพือผลิตเป็นเชื้อเพลิง RDF และปุ๋ยอินทรีย์ ระบบ SUT-MBT แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 5 แห่ง คือ เกาะพยาม ระนอง เกาะกรูด ตราด เกาะสีชัง ชลบุรี ตำบลคุระบุรี และตำบลพรุใน พังงา

เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

 

ผศ.ดร.พรรษา ลิบลับ

อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) 

คอลัมน์สปอตไลต์ หน้า 4 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,879 วันที่ 16-19 เมษายน พ.ศ.2566