"ฝุ่น PM 2.5"เกินมาตรฐาน 43 จังหวัด เชียงรายพุ่งกว่า 300 ไมโครกรัม

16 เม.ย. 2566 | 05:08 น.
อัปเดตล่าสุด :16 เม.ย. 2566 | 05:08 น.

GISTDA เผย ค่าฝุ่น PM2.5 เช้านี้ ( 16 เม.ย. 66 ) เกินค่ามาตรฐานรวม 43 จังหวัด เชียงรายแชมป์สูงสุดถึง 304 ไมโครกรัม ตามด้วย พะเยา เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน น่าน ลำพูน

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จีสด้า GISTDA  รายงาน ค่าฝุ่น PM 2.5 สูงเกินค่ามาตรฐาน 43 จังหวัด จากการตรวจสอบจากแอปพลิเคชัน “เช็คฝุ่น” แบบรายชั่วโมง วันนี้ (16 เม.ย.66) เวลา 9:00 น. ที่ผ่านมา

พบหลายจังหวัดมีค่า PM2.5 เกินมาตรฐาน และอยู่ในระดับสีส้มไปจนถึงสีแดง ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงรายพุ่งไปถึง 304 ไมโครกรัม ตามด้วย พะเยา เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน น่าน ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก เป็นต้น 
 

ขอให้ประชาชนควรสวมหน้ากากอนามัย และงดกิจกรรมภายนอกอาคารสถานที่เพื่อป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจที่จะตามมา ในขณะที่เกือบทุกเขตของกรุงเทพมหานคร พบค่าฝุ่นฯ รายชั่วโมงในระดับสีส้มเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพเช่นกัน ยกเว้นเพียงแต่ดอนเมืองที่อยู่ในระดับปานกลาง

 

\"ฝุ่น PM 2.5\"เกินมาตรฐาน 43 จังหวัด เชียงรายพุ่งกว่า 300 ไมโครกรัม

เฝ้าระวังการเกิดไฟป่าและความร้อน PM2.5

สิ่งหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวัง ที่มักจะมากับเหตุการณ์ไฟป่าและจุดความร้อนคือ PM 2.5 สถานการณ์จุดความร้อนจากประเทศเพื่อนบ้านอาจส่งผลให้เกิด PM 2.5 ได้ในพื้นที่บริเวณชายแดนเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากกระแสลมที่จะพัดผ่านเข้ามา ประกอบกับภูมิประเทศทางภาคเหนือของไทยมีลักษณะเป็นหุบเขาแอ่งกระทะ จึงมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับการพัดและการเคลื่อนตัวของกระแสลมในพื้นที่เป็นสำคัญ

ปัญหาไฟป่าหมอกควัน ส่งผลกระทบให้กับระบบต่างๆ ของประเทศมาโดยตลอด โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม และสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยกำลังจะได้ใช้ระบบ THEOS-2 อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่ง 1 ในภารกิจสำคัญของระบบนี้ คือการสำรวจ วิเคราะห์ และติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้น ได้อย่างแม่นยำและทันท่วงที เพื่อการสนับสนุนข้อมูลสำคัญให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำข้อมูลไปใช้วางแผน ป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดข้อมูลเฉพาะพื้นที่ สามารถติดตามจากหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบโดยตรงได้ GISTDA ยังคงติดตามและรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นข้อมูลให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้บริหารจัดการในพื้นที่