ราชกิจจาฯ คลอดระเบียบจัดตำรวจรักษาความปลอดภัย “บุคคลสำคัญ”

25 เม.ย. 2566 | 05:55 น.
อัปเดตล่าสุด :25 เม.ย. 2566 | 06:03 น.

ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการตำรวจไปรักษาความปลอดภัย “บุคคลสำคัญ” เช็ครายละเอียด ข้อปฎิบัติทั้งหมดของกฎหมาย รวมไว้ที่นี่ครบ

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการตำรวจไปรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นการปรับปรุงมาตรการว่าด้วยการรักษา ความปลอดภัยบุคคลสำคัญ

ทั้งนี้เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน และสอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติ โดยให้ระเบียบนี้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 60 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

สาระสำคัญ : ระเบียบว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการตำรวจไปรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ กำหนดรายละเอียด สรุปได้ดังนี้

กรณีการร้องขอจะต้องทำเป็นหนังสือ ซึ่งบุคคลสำคัญผู้ร้องขอเป็นผู้ลงนามร้องขอมายัง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผ่านกองบัญชาการตำรวจสันติบาลตามแบบคำร้องขอท้ายระเบียบนี้ โดยคำร้องขอดังกล่าวจะระบุตัวข้าราชการตำรวจที่จะไปรักษาความปลอดภัยไม่ได้

กรณีบุคคลสำคัญที่ดำรงตำแหน่งเกินกว่าหนึ่งตำแหน่งตามที่ ก.ตร. กำหนด สามารถร้องขอข้าราชการตำรวจไปรักษาความปลอดภัยได้เพียงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งเท่านั้น

 

ภาพประกอบข่าว ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการตำรวจไปรักษาความปลอดภัย “บุคคลสำคัญ”

ต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ

ทั้งนี้ให้กองบัญชาการตำรวจสันติบาล เป็นผู้รับผิดชอบในการพิจารณาจัดข้าราชการตำรวจ ที่จะไปปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมในตำแหน่ง ความรู้ ความสามารถ และคุณสมบัติของข้าราชการตำรวจที่จะไปรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ 

หากคำร้องขอเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ให้กองบัญชาการตำรวจสันติบาล สอบถามไปยังหน่วยงานต้นสังกัดของข้าราชการตำรวจที่ได้รับการพิจารณาให้ไปปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญว่ามีเหตุขัดข้องหรือไม่ อย่างไร

พร้อมด้วยเหตุผล และข้าราชการตำรวจที่จะไปรักษาความปลอดภัย สมัครใจหรือไม่ แล้วให้หน่วยงานต้นสังกัดแจ้งผลมายังกองบัญชาการตำรวจสันติบาลภายใน 15 วัน นับแต่ได้รับเรื่อง เพื่อประมวลเรื่องเสนอผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติพิจารณาสั่งการต่อไป

หลักเกณฑ์จัดตำรวจรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ

การพิจารณาจัดข้าราชการตำรวจไปรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ มีหลักเกณฑ์ ดังนี้

1.คุณสมบัติของข้าราชการตำรวจที่จะไปรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ 

  • ดำรงตำแหน่งไม่เกินรองสารวัตรหรือตำแหน่งเทียบเท่า
  • มีอายุ 25 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 45 ปี
  • เป็นผู้ที่สมัครใจจะไปปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ
  • ไม่เป็นข้าราชการตำรวจที่สังกัดสถานีตำรวจ เว้นแต่จะมีข้าราชการตำรวจอื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทนในสถานีตำรวจนั้น
  • ไม่เป็นผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ราชการในตำแหน่งที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งครั้งแรกยังไม่ครบ 2 ปี
  • ไม่เป็นผู้ที่ปฏิบัติราชการในตำแหน่งที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งยังไม่ครบกำหนดเวลา ตามเงื่อนไขท้ายคำสั่งบรรจุและแต่งตั้ง หรืออยู่ระหว่างการบรรจุให้ได้รับเงินเดือนตามคุณวุฒิ
  • ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งควบปรับระดับเพิ่ม - ลดในตัวเอง
  • ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งในกลุ่มสายงานวิชาชีพเฉพาะ
  • ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งซึ่งห้ามไปปฏิบัติราชการในหน้าที่อื่นตามระเบียบหรือคำสั่ง ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนด
  • ไม่เป็นผู้ที่อยู่ระหว่างถูกตั้งกรรมการสอบสวน และไม่อยู่ระหว่างต้องหาคดีอาญา เว้นแต่เป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

2.ข้าราชการตำรวจที่จะไปรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ ต้องผ่านการอบรมเกี่ยวกับ การรักษาความปลอดภัยบุคคลของกองบัญชาการตำรวจสันติบาล หรือผ่านการอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม หรือมีประสบการณ์ในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม หรือผ่านการอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับการสืบสวน หรือมีประสบการณ์ในการสืบสวนเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ ในการรักษาความปลอดภัย

3.การสั่งให้ข้าราชการตำรวจที่ไปรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญนั้น ให้สั่งได้ครั้งละไม่เกิน 2 คน และระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี

 

ภาพประกอบข่าว ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการตำรวจไปรักษาความปลอดภัย “บุคคลสำคัญ”

 

ระยะเวลาการสิ้นสุด

การสิ้นสุดระยะเวลาของข้าราชการตำรวจที่ไปรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ ให้สิ้นสุดลงในกรณี ดังต่อไปนี้

  • เมื่อบุคคลสำคัญผู้ร้องขอเสียชีวิต
  • ครบระยะเวลาในการอนุมัติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  • ถูกส่งตัวกลับ หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติเรียกตัวกลับ
  • สถานภาพตำแหน่งของบุคคลสำคัญที่ร้องขอเปลี่ยนแปลงไปและไม่เป็นไปตามระเบียบนี้
  • เมื่อสถานภาพตำแหน่งหรือสังกัดของข้าราชการตำรวจที่ไปปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัย เปลี่ยนแปลงไป
  • ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงหรือต้องหาคดีอาญา เว้นแต่เป็นความผิด ที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

ทั้งนี้เมื่อการปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญใกล้สิ้นสุดตามระยะเวลา ที่กำหนดและผู้ร้องขอยังมีความจำเป็นต้องการให้มีการรักษาความปลอดภัยต่อ ให้ผู้ร้องขอนั้นเสนอเรื่อง ถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติผ่านกองบัญชาการตำรวจสันติบาลก่อนครบกำหนดระยะเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน

ขณะเดียวกันการสั่งให้ข้าราชการตำรวจไปรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ ให้มีกำหนดระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ ห้ามสั่งให้ไปรักษาความปลอดภัยเป็นครั้งคราวโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาแต่ละครั้ง อย่างชัดเจนเพื่อประโยชน์ในการบังคับบัญชาของหน่วยงานต้นสังกัด และห้ามสั่งให้ข้าราชการตำรวจ ไปรักษาความปลอดภัยย้อนหลัง

 

ภาพประกอบข่าว ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการตำรวจไปรักษาความปลอดภัย “บุคคลสำคัญ”

 

ข้อปฏิบัติของตำรวจรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ

การปฏิบัติของข้าราชการตำรวจที่ไปรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ ให้ถือปฏิบัติ ดังนี้

  1. ก่อนเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ ให้หน่วยงานต้นสังกัด ส่งตัวข้าราชการตำรวจผู้นั้นเข้ารับการอบรมชี้แจงจากกองบัญชาการตำรวจสันติบาล เพื่อให้เข้าใจถึงหลักการและแนวทางการประสานงานด้านการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ
  2. ให้ประสานงานด้านการข่าวและรายงานความเคลื่อนไหวที่อาจเป็นภัยต่อบุคคลสำคัญ ที่ไปรักษาความปลอดภัยให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติทราบ โดยผ่านกองบัญชาการตำรวจสันติบาล
  3. เมื่อการรักษาความปลอดภัยสิ้นสุดลง ให้ข้าราชการตำรวจที่ไปรักษาความปลอดภัย บุคคลสำคัญรายงานเหตุดังกล่าวไปยังหน่วยงานต้นสังกัดของตนภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีเหตุสิ้นสุด เมื่อหน่วยงานต้นสังกัดได้รับรายงานเหตุแล้วให้มีคำสั่งให้ข้าราชการตำรวจนั้นกลับมาปฏิบัติหน้าที่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีเหตุสิ้นสุด

อ่านระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการตำรวจไปรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ พ.ศ.2566