เรื่องของ “ควาย” 14 พฤษภาคม วันอนุรักษ์ควายไทย

14 พ.ค. 2566 | 02:30 น.

เรื่องของ “ควาย” 14 พฤษภาคม วันอนุรักษ์ควายไทย เพื่อร่วมกันอนุรักษ์และดูแลควายไทย และส่งเสริมการเลี้ยงควาย

14 พฤษภาคม ของทุกปี ถือเป็น วันอนุรักษ์ควายไทย ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เสนอ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ และให้ความสำคัญในการส่งเสริมและอนุรักษ์การเลี้ยงควายไทย เนื่องจากปัจจุบันจำนวนควายไทย และผู้เลี้ยงมีแนวโน้มลดลง รวมถึงไม่ได้รับการส่งเสริม สนับสนุนอาชีพ รวมทั้งด้านวิชาการ เพื่อร่วมกันอนุรักษ์และดูแลควายไทย และส่งเสริมการเลี้ยงควาย ให้เจ้าทุยอยู่คู่คนไทยไปอีกแสนนาน

ควาย หรือภาษาทางการเรียกว่า กระบือ ควายไทยถือเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญกับภาคเกษตรกรรมของไทยมาอย่างช้านาน คนไทยเทียมควายไถนามาตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า ตา ทวด ด้วยความที่เป็นสัตว์ที่มีความอดทน ทนแดด ทนร้อน ทนสภาพอากาศแห้งแล้งได้ ทำให้กลายเป็นเครื่องมือไถนาชั้นดี ก่อนที่จะมีรถไถเกิดขึ้นมา นอกจากนี้แล้วการเดินทางในสมัยก่อนก็ยังใช้ควายเทียมเกวียน เพื่อทุ่นแรงในการเดินทางไกลอีกด้วย แต่ปัจจุบันควายไทยถูกลดความสำคัญลง จนกลายเป็นเพียงสัตว์เลี้ยงเท่านั้น

 

 

คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้วันที่ 14 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันอนุรักษ์ควายไทย เนื่องจากปัจจุบันจำนวนควายไทยและผู้เลี้ยงควายไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งควายยังเป็นสัตว์ที่ไม่ได้รับความเอาใจใส่จากทางภาครัฐในการส่งเสริมและสนับสนุนในการสร้างเสริมอาชีพ การกำหนดวันนี้ขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักให้กับคนไทยถึงความสำคัญของควายและช่วยกันอนุรักษ์ก่อนที่ควายไทยจะสูญพันธุ์ไป

 “ควาย” มี 2 ชนิด คือ ควายป่า และควายบ้าน สามารถแบ่งควายบ้านออกไปได้อีก 2 ประเภท คือ

ควายปลัก (Swamp Buffalo)

พบในประเทศไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม พม่า กัมพูชา และลาว เลี้ยงเพื่อใช้แรงงานในไร่นา เพื่อปลูกข้าวและทำไร่ และเมื่อควายอายุมากขึ้นก็จะส่งเข้าโรงฆ่าเพื่อใช้เนื้อเป็นอาหาร

ลักษณะของควายปลัก มีรูปร่างล่ำสัน ผิวหนังมีสีเทาเข้มเกือบดำ บางตัวอาจมีสีขาวเผือก มีขนเล็กน้อย ลำตัวหนา ท้องใหญ่ หัวยาวแคบ เขาโค้งไปข้างหลัง หน้าสั้น หน้าผากแบนราบ ตานูนเด่นชัด ช่วงระหว่างรูจมูกทั้งสองข้างกว้าง ขาทั้ง 4 อาจจะมีสีขาวแก่หรือสีเทาคล้ายใส่ถุงเท้า คอยาวและบริเวณใต้คอจะมีขนขาวเป็นรูปตัววี หัวไหล่และอกนูนเห็นชัดเจน จะชอบนอนแช่โคลน

ควายน้ำหรือควายแม่น้ำ (River Buffalo)

พบในประเทศ อินเดีย ปากีสถาน อียิปต์ ประเทศในยุโรปตอนใต้ และยุโรปตะวันออก มีหลายสายพันธุ์ เช่น พันธุ์มูร่าห์ นิลิ ราวี เมซานี เซอติ และเมดิเตอร์เรเนียน เป็นต้น ให้นมมากและเลี้ยงไว้เพื่อรีดนม ไม่ชอบลงแช่โคลน แต่จะชอบน้ำสะอาด รูปร่างจะมีขนาดใหญ่ แข็งแรง

ลักษณะทั่วไปจะมีผิวหนังสีดำ หัวสั้น หน้าผากนูน เขาสั้น และบิดม้วนงอ ส่วนลำตัวจะลึกมาก มีขนาดเต้านมใหญ่ ควายแม่น้ำเพิ่งเข้ามาสู่ประเทศไทยประมาณสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นิยมเลี้ยงอยู่ในส่วนราชการ

ควายแม่น้ำ จะโตเต็มวัยเมื่ออายุระหว่าง 5-8 ปี น้ำหนักตัวผู้โตเต็มวัยโดยเฉลี่ย 520-560 กิโลกรัม ตัวเมียเฉลี่ยประมาณ 360-440 กิโลกรัม ตัวผู้จะใหญ่กว่าตัวเมียเล็กน้อย รูปร่างหน้าตาควายส่วนใหญ่รูปร่างอ้วน เตี้ย พ่วงพี ลำตัวสั้น ท้องกางกลม แข้งขาสั้น เขากางยาว ปลายเขาโค้งเป็นวงคล้ายพระจันทร์เสี้ยวสี 

ข้อมูล : กรมปศุสัตว์