นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดป้าย Road to Bangkok World Pride 2028 ณ ลานใบบัว Skywalk บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน ว่า งานบางกอกไพรด์ ในวันอาทิตย์ที่ 4 มิถุนายนนี้ จะเป็นการแสดงถึงการโอบกอดเพื่อน ๆ ของเราที่มีความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งความแตกต่างจริง ๆ แล้วไม่ใช่แค่เรื่องเพศ แต่รวมถึงเรื่องความคิด มุมมอง ความแตกต่างทั้งร่างกายและจิตใจ และอีกมากมาย เมืองจะเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคนได้
“เราต้องยอมรับความแตกต่างซึ่งกันและกัน และโอบกอดเพื่อน ๆ เราที่มีความแตกต่างไว้ เพราะการยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางเพศเป็นพื้นฐานของการยอมรับความต่างในเรื่องอื่น ๆ ต่อไป และขอให้ทุกคนมาร่วมงานอย่างมีความสุข และกทม. พร้อมร่วมเดินหน้าสู่การคว้าโอกาสการเป็นเจ้าภาพ World Pride 2028 ที่จะถึงนี้”
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า นายชัชชาติและทีมบริหารเข้ามาทำงานเป็นช่วงเวลาครบ 1 ปี ซึ่งตรงกับงานพาเหรดไพรด์ของปีที่แล้วที่ถนนสีลม โดยปีนี้ย้ายมาจัดที่ถนนพระราม 1 ต้องขอบคุณความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในความทุ่มเทเพื่อให้เกิดงานครั้งนี้ การได้เห็นภาพวาดบนผนังหน้าหอศิลป์ฯ ที่สื่อถึงความหลากหลายทางเพศ และพร้อมพาเทศกาล Pride Month ของกรุงเทพฯ ไปสู่ระดับโลก เป็นความเปลี่ยนแปลงมหาศาลและอยากเชิญชวนทุกคนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้
สำหรับงานในวันนี้ บริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด จับมือ กรุงเทพมหานคร พร้อมภาคประชาสังคมและภาคเอกชน เนรมิตแลนด์มาร์กสำคัญใจกลางกรุงเทพฯ ด้วยงานผลงานศิลปะจากแคมเปญ Road To Bangkok World Pride 2028 เพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลแห่งความภาคภูมิใจ (Pride Month) ในเดือนมิถุนายน 2566 พร้อมปักธงเป้าหมายในการเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับความหลากหลายที่สุดในเอเชีย โชว์ความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพ World Pride 2028 โดยมีผลงานของศิลปินชาวสีรุ้งส่งเข้าร่วมประกวด 80 ผลงาน และคัดเหลือ 10 ผลงานที่โดดเด่นและสื่อความหมาย
ทั้งนี้ผลงานที่ได้รางวัลอันดับ 1 ที่ถูกติดตั้งบริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ในวันนี้ ชื่อว่า The Road to Equality: Bangkok World Pride 2028 จากศิลปิน สรธร หวังนิตย์สุข ที่ถ่ายทอดผลงานโดยใช้แนวความคิด 'The Road to Equality ทางเดินแห่งความเท่าเทียม'
โดยออกแบบให้พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ซึ่งเป็นดั่งสัญลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร ประทับอยู่กลางภาพ และล้อมรอบด้วยธงซึ่งเป็นตัวแทนของความหลากหลายทางเพศต่าง ๆ โดยยืนอยู่บนทางเดินเกลียวคลื่น และมีชาว LGBTQIAN+ จากทุกเชื้อชาติ กำลังเดินทางเข้าสู่กรุงเทพมหานคร หมายถึงกรุงเทพมหานคร พร้อมโอบรับและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ และพร้อมจะเป็นเจ้าภาพจัดงาน World Pride 2028
สำหรับภายในงานยังเปิดลงทะเบียนสำหรับผู้สนใจเข้าร่วมงานบางกอกไพรด์เป็น "พลเมืองสีรุ้ง" (Rainbow's Citizen) ผ่านแอปพลิเคซัน Open me wallet อีกด้วย
นอกจากนี้กรุงเทพมหานคร ขอเชิญชวนชาวสีรุ้งทุกคน พบกับประสบการณ์การเดินพาเหรดที่สนุกสนาน เป็นมิตรกับทุกเพศทุกวัย รวมถึงผู้ให้ความใส่ใจสำหรับผู้พิการ ในงาน "บางกอกไพรด์ 2023" ผ่านขบวนพาเหรดที่เริ่มตั้งแต่บริเวณแยกปทุมวัน ถนนพระราม 1 ฝั่งสยามพิวรรธน์ จนถึงแยกราชประสงค์ บริเวณลานเซ็นทรัลเวิลด์ พร้อมด้วยธงสีรุ้งยาวที่สุดในประเทศไทย ที่จะโบกสะบัดเพื่อประกาศชัดถึงความเท่าเทียมกันของผู้มีความหลากหลายทางเพศ พร้อมทั้งไฮไลต์กิจกรรมงานตลอดเส้นทาง ในวันอาทิตย์ที่ 4 มิถุนายน 2566 ตั้งแต่เวลา 14.00 - 20.00 น.