"ส่วยสติ๊กเกอร์" หรือ "ส่วยรถบรรทุก" ที่ถูกนำกลับมาเปิดประเด็นพูดถึงอีกครั้ง โดยนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จนกลายเป็นกระแสในสังคม เจ้าหน้าที่รัฐหลายหน่วยงานทั้งกรมทางหลวง(ทล.) กองบังคับการตำรวจทางหลวง (บก.ทล) ต่างออกมารับลูกกรณีดังกล่าว ทั้งการตรวจสอบ และเข้มงวดกวดขัน
ล่าสุด นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ออกมายอมรับว่า "สติ๊กเกอร์ส่วยทางหลวง" มีมานานแล้ว ซึ่งในอดีตสติ๊กเกอร์แต่ละแบบใช้ได้ในพื้นที่บริเวณกว้างหลายจังหวัด แต่ช่วงหลังๆ มานี้เปลี่ยนเป็นใช้ได้เฉพาะพื้นที่แคบลง เช่น ใช้วิ่งได้เฉพาะเส้นทางใดเส้นทางหนึ่งที่ไม่ข้ามจังหวัดหรือใช้วิ่งได้เฉพาะโซนจังหวัดใกล้เคียงกันเท่านั้น
สติ๊กเกอร์จึงมีหลายรูปแบบ แต่ละแบบใช้ได้เฉพาะเขตพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเท่านั้น ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากผู้ประกอบการรถขนส่งหนักส่วนใหญ่ จะเป็นผู้รับเหมาเฉพาะท้องถิ่น ที่จะขนหิน ดิน ทราย วิ่งไม่ไกลนัก โดยสติ๊กเกอร์เหล่านี้จะมีกลุ่มผู้มีอิทธิพล ไปเคลียร์กับเจ้าหน้าที่แต่ละพื้นที่ไว้ และทำสติ๊กเกอร์มาขายให้ผู้ประกอบการที่ต้องการบรรทุกเกินติดรถไว้ ซึ่งจะขายในราคาตั้งแต่ 3,000 บาท ไปจนถึงหลักหมื่นบาท แล้วแต่พื้นที่เล็กหรือใหญ่
เพราะการบรรทุกหิน ดิน ทราย ส่วนใหญ่จะบรรทุกเกินน้ำหนักที่กฎหมายกำหนด เพื่อที่จะสามารถขนหิน ดิน ทราย ได้ในปริมาณมากๆ โดยใช้เที่ยววิ่งน้อยลง ผู้ประกอบการเหล่านี้จึงต้องซื้อสติ๊กเกอร์มาติด เพื่อที่จะได้ไม่ต้องถูกตรวจจับน้ำหนักเกิน
กลายเป็นปัญหาความไม่เป็นธรรม ที่ผู้ประกอบการซึ่งทำถูกต้องตามกฎหมาย ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบการที่ทำผิดกฎหมาย และควรแก้ไขกฎหมายให้เอาผิดเจ้าของรถด้วย เพราะปัจจุบันกฎหมายเอาผิดเฉพาะคนขับรถ ทั้งที่เจ้าของรถจะเป็นคนสั่งให้บรรทุกน้ำหนักเกิน
ทั้งนี้ทางสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับ"ส่วยสติ๊กเกอร์" หรือ "ส่วยรถบรรทุก"นี้ พร้อมเรียกร้องให้มีการปราบปรามให้หมดไปจากประเทศไทยอย่างจริงจัง เนื่องจากเป็นการทุจริตคอรัปชั่น ทำให้รัฐบาลต้องเสียงบประมาณในการซ่อมแซมถนนที่เสียหายจากรถบรรทุกน้ำหนักเกิน ปีละหลายหมืนล้านบาท และทำให้ผู้ประกอบการที่ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายถูกเอาเปรียบทางการแข่งขันด้วย