จากกรณีที่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวนอกชายฝั่งทางตอนใต้ของเมียนมา ขนาด 6.0 ทำให้เกิดการสั่นสะเทือนถึง กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และปทุมธานีนั้น วันนี้ (19 มิถุนายน 2566) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดร.อมรเทพ จิรศักดิ์จำรูญศรี อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิจัยด้านแผ่นดินไหว และ รศ.ดร.ฉัตรพันธ์ จินตนาภักดี อนุคณะกรรมการด้านแผ่นดินไหวของ วสท (วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย) วิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แถลงถึงผลกระทบและวิธีการรับมือเรื่องนี้
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. แถลงข่าวถึงกรณีเกิดเหตุแผ่นดินไหว พบว่า กทม.สามารถรู้สึกได้ทั้งหมด 11 เขต ประกอบด้วย จตุจักร ลาดพร้าว คลองเตย หลักสี่ บางรัก บางขุนเทียน หนองแขม
ทั้งนี้ เบื้องต้น กทม.ยังไม่ได้รับรายงานว่ามีความเสียหายและยังไม่มีอาฟเตอร์ช็อกเกิดขึ้น
ด้าน รศ.ดร.ฉัตรพันธ์ อนุคณะกรรมการด้านแผ่นดินไหวของ วสท (วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย) วิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เราได้ติดตั้งเครื่องวัดความสั่นทะเทือนไว้ที่ตึกของ กทม. 2 ดินแดง
สำหรับจุดที่เกิดแผ่นดินไหวห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 500 กิโลเมตร และเป็นการเกิดแผ่นดินไหวในระดับที่ต่ำมากทำให้มีผู้ที่รู้สึกและไม่รู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือน ตึกที่สูงกว่าก็จะมีโอกาสโยกตัวมากกว่า และรู้สึกได้มากกว่า กล่าวได้ว่าแผ่นดินไหวในครั้งนี้อยู่ไกล ไม่น่าเป็นห่วงเท่าไรนัก ถือว่า วันนี้เป็นการฝึกซ้อมอพยพ
รศ.ดร.ทวิดา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า แผนของ กทม. คือ ต้องมีการสำรวจโครงสร้างอาคารเป็นระยะ ๆ และการแจ้งเตือนเมื่อเกิดแผ่นดินไหวหลังจากที่เครื่องมือตรวจจับได้และสามารถส่งข่าวไปที่ประชาชนได้ว่าจากการเกิดแผ่นดินไหวมีความรุนแรงเท่าไร และจะมีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน