อาลัยเด็กเก่ง น้องขุมทอง "เบนซ์” นักเรียนราชวินิตฯ เหยื่อถังดับเพลิงระเบิด

23 มิ.ย. 2566 | 10:13 น.
อัปเดตล่าสุด :23 มิ.ย. 2566 | 10:35 น.

จากเหตุการณ์ถังดับเพลิงระเบิดที่โรงเรียนราชวินิต มัธยม ขณะมีการจัดกิจกรรมสาธิตป้องกันสาธารณภัยวันนี้ (23 มิ.ย.) ทำให้นายขุมทอง (เบนซ์) นักเรียนชั้นม.6 เสียชีวิต ท่ามกลางความอาลัยของครอบครัว คณาจารย์ และเพื่อนนักเรียน

 

น้องเบนซ์ หรือนายขุมทอง (ขอสงวนนามสกุล) เป็น นักเรียนชั้นม.6 ของ โรงเรียนราชวินิต มัธยม เขตดุสิต ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ ถังดับเพลิงระเบิด ขณะมีการจัดกิจกรรมสาธิตป้องกันสาธารณภัยที่โรงเรียน ซึ่งมีนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 126 คน เหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้น้องเบนซ์ต้องจากไปขณะที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 25 ราย ทั้งน่าเสียใจและน่าเสียดายอนาคตของนักเรียนที่กำลังอยู่ในวัยเติบโตและเป็นวัยแห่งการเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง

โดยเฉพาะนายขุมทอง หรือ "น้องเบนซ์" นั้น เป็นนักเรียนมัธยมปีสุดท้าย (ม.6) ที่ไม่เพียงเรียนเก่ง แต่ยังมีความสามารถ เป็นเจ้าของเพจในเฟซบุ๊กที่ชื่อ วางแผนเรื่องเงินๆ ที่สะท้อนความเป็นเด็กยุคใหม่ที่เข้าใจเทคโนโลยีและรู้จักใช้ประโยชน์สื่อสังคมออนไลน์เป็นอย่างดี น้องเบนซ์แนะนำตัวไว้ในเพจดังกล่าวว่า “ใครที่ยังจัดการเงินในชีวิตประจำวันไม่ได้หรือใช้เท่าไหร่ก็ไม่เหลือเก็บให้วางแผนเรื่องเงินๆช่วยคุณ”

เพจเฟซบุ๊กของน้องเบนซ์ "วางแผนเรื่องเงินๆ"

และเพื่อเป็นการ ไว้อาลัยน้องเบนซ์ ขุมทอง เราขอนำเสนอบทความที่เป็นโพสต์สุดท้ายของน้อง เขียนไว้เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2566 ในเพจวางแผนเรื่องเงินๆ ที่มีผู้ติดตามกว่า 800 คน เนื้อหาดังนี้ ...

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน ตามที่ผมได้ให้สัญญาไว้บทความในครั้งนี้จะเกี่ยวกับ “การบริหารเงินของตัวผม”

ซึ่งประสบการณ์ของผมนั้น เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงวัยเด็กจวบจนปัจจุบันครับ ผมจะขอเล่าย้อนไปในช่วงวัยเด็ก สมัยนั้นเด็กๆทุกคนถูกพร่ำสอนการจัดการเงินด้วยวิธีง่ายๆ นั่นคือรายได้ – รายจ่าย=เงินออม ซึ่งวิธีนี้สามารถใช้ได้ครับ แต่หากเราใช้เงินที่ได้มานั้นหมดล่ะ แล้วเงินออมของเราจะเพิ่มพูนขึ้นจากเดิมได้อย่างไรและหากเด็กๆเหล่านั้นมีของที่อยากได้ล่ะ ไม่ว่าจะเป็น ของเล่น ขนมหลายห่อ หรือแม้กระทั่งการใช้เงินไปกับความพอใจต่างๆ และวัยเด็กของผมนั้นก็ใช้เงินส่วนใหญ่ไปกับสิ่งที่กล่าวมา ซึ่งทำให้ผมในบางวันในแต่ละเดือนไม่มีเงินที่จะนำมาใช้ซื้ออาหาร

ตรงจุดนี้แหละครับทำให้ผมตระหนักเรื่องเงินออมหรือโดยส่วนตัวผมเรียกมันว่า “เงินกันตาย” เงินที่ผมจะเก็บออมนั้นจะเป็นเงินที่ใช้ยามฉุกเฉินซะส่วนใหญ่ในช่วงนั้น แต่ผมก็มีเก็บเพื่อที่อยากจะเห็นตัวเงินมีเยอะขึ้นจนพอใจ ในวัยเด็กผมบริหารเงินโดยถือคติว่า “เงินที่เสียไปจะไม่เป็นไรหากเราได้เงินมามากกว่า” หมายความว่า หากผมใช้เงินไป 50 บาท และผมได้เงินเพิ่ม 100บาท = ผมไม่เสียเงิน

ใช่ครับ มันเป็นวิธีคิดที่ไม่น่าดูชมเลยล่ะครับและจุดเปลี่ยนมาถึง เมื่อผมอายุ 11-13 ปี ผมตระหนักได้มากขึ้นและผมมีความตั้งใจที่จะออมเงินให้ได้ 10,000 บ. ในตอนที่จบป.6 …. ใช่ครับ ผมสำเร็จในการเก็บเงินตามเป้าจากความตั้งใจและมุ่งมั่นมากพอ และหลังจากนั้นผมก็ได้เข้าสู่โลก “การเงินและการลงทุน”

ในช่วงแรกเมื่อผมได้เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการเงินในแบบต่างๆซึ่งเป็นความเข้าใจหลักพื้นฐานทำให้ผมได้รู้ว่าสิ่งที่ตัวผมในวัยเด็กเคยคิดเรื่องการจัดการเงินนั้นมีทั้งถูกและควรปรับปรุง หลังจากที่ผมมีความรู้ในเรื่องการจัดการเงิน บริหารเงิน ผมไม่รอช้าได้นำวิธีต่างๆมาปรับใช้เรื่อยมา ลองวิธีการต่างๆที่คิดว่าดี จนกระทั่งผมค้นพบวิธีที่เรียกว่า “ไห 6 ใบ” ซึ่งวิธีเหล่านี้แบ่งได้หลายแบบใครต้องการไหกี่ใบในการจัดการเงิน โดยขั้นต่ำแล้วจะมีไห 4 ใบ “ไห 6 ใบ” หมายถึง การแบ่งเงินก้อนหรือรายได้ของเราออกเป็น 6 ส่วน ดังนี้

1.ใช้ประจำวัน 2.ออมเงิน 3.ลงทุน 4.การศึกษา 5.บริจาค และสุดท้าย 6.ใช้ตามใจ โดยแบ่งออกเป็นสัดส่วนตามนี้ครับ 55%, 10%, 10%, 10%, 5%, 10% ตามลำดับ ซึ่งผมได้ปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับตัวผมดังนี้ครับ

55% , 15% , 5% , 5% , 5%, 15% =100% แต่ผมนั้นเปลี่ยนจากการบริจาคเป็นสุขภาพ โดยการจัดเงินแบบนี้ทำให้ผมนั้นเห็นตัวเงินได้ละเอียดยิ่งขึ้นว่าเรามีเงินแต่ละส่วนอยู่เท่าไหร่ ซึ่งจะต่างจากการใช้เงินเป็นก้อนเดียวกันเลย ซึ่งจะทำให้เราไม่รู้ว่ามีเงินในส่วนต่างๆที่สามารถใช้ได้อยู่เท่าไหร่

หลักการ “ไห 6 ใบ” ได้ทำให้ผมจัดการและบริหารเงินที่ได้ต่อเดือนได้เป็นอย่างดี ผมได้เงินต่อเดือน 6,000 ซึ่งเงินในส่วนนี้ผมต้องใช้จ่ายดูแลตัวเองในทุกวันบางท่านที่อ่านมาอาจสงสัยว่าเงินที่ผมได้ต่อเดือนรวมค่าอาหารในแต่ละมื้อไหม คำตอบคือ ผมต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับอาหารการกินทุกมื้อ สิ่งของต่างๆ รวมทุกค่าอินเทอร์เน็ตต่างๆด้วยตัวผมเองทั้งหมดในแต่ละเดือน

หลักการ “ไห 6 ใบ” จึงเป็นคำตอบที่ใช่สำหรับผมในตอนนี้ที่ดีที่สุด ผมมีเงินออมประจำต่อเดือนที่ต้องแยกทันทีหลังได้เงินเดือน จากนั้นผมจะนำไปจัดสรรไว้ในส่วนต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น วิธีการนี้เหมาะกับผู้คนที่ได้รับเป็นเงินก้อนไม่ว่าจะเป็น ต่อสัปดาห์ หรือ ต่อเดือน ก็สามารถใช้ได้เช่นกัน ผมอาจลืมบอกไปว่าตัวผมในตอนนี้เป็นนักเรียนธรรมดาๆ คนหนึ่งที่มีความสนใจด้านการเงินและการลงทุนรวมถึงความรู้ข่าวสารที่เกี่ยวข้อง

และสุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่อ่านเรื่องราวการจัดการเงินของผม ขุมทอง (เบนซ์) ในบทความถัดไปจะเกี่ยวกับเรื่องใดขอให้ทุกท่านโปรดตั้งตารอคอยได้เลยครับ

“ฐานเศรษฐกิจ” ขอแสดงความเสียใจมายังครอบครัวน้องขุมทอง (เบนซ์) มา ณ โอกาสนี้