ร่วมรำลึกวันสุนทรภู่ 26 มิ.ย. ด้วย 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ“พระสุนทรโวหาร”

26 มิ.ย. 2566 | 01:49 น.
อัปเดตล่าสุด :26 มิ.ย. 2566 | 03:13 น.

26 มิถุนายน ของทุกปี เป็น"วันสุนทรภู่" เรามาร่วมรำลึกครบรอบวันเกิดของกวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ได้รับการยกย่องไปทั่วโลกว่า ท่านเป็นบุคคลสำคัญที่สร้างสรรค์งานวรรณกรรมอันทรงคุณค่าตลอดชีวิตของท่านใน 4 รัชกาล

 

ต่อไปนี้ เป็น 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ พระสุนทรโวหาร นามเดิม “ภู่” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “สุนทรภู่” ที่เรารวบรวมมาเพื่อร่วมรำลึกถึงท่านเนื่องใน “วันสุนทรภู่” 26 มิ.ย. 2566 ท่านไม่เพียงเป็นกวีเอกของไทย แต่ยังได้รับการประกาศยกย่องจากองค์การยูเนสโก ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวรรณกรรมเมื่อปี พ.ศ. 2529 ซึ่งเป็นปีครบรอบวันเกิด 200 ปีของท่านนั่นเอง นับเป็นชาวไทยคนที่ 5 และเป็นสามัญชนชาวไทย “คนแรก” ที่ได้รับเกียรตินี้

1) สุนทรภู่ หรือนามเดิม ภู่ เกิดเมื่อวันจันทร์ เดือน 8 ขึ้น 1 ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช 1148 เวลาเช้า 2 โมง ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (ตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329) ณ บริเวณด้านเหนือของพระราชวังหลัง ซึ่งเป็นบริเวณสถานีรถไฟบางกอกน้อยในปัจจุบัน ท่านจึงเป็นเด็กฝั่งธนฯโดยกำเนิด (จังหวัดธนบุรีผนวกรวมกับจังหวัดพระนครในปี 2514 ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นกรุงเทพมหานครเมื่อปี 2515)

สุนทรภู่ได้รับกล่าวขานว่าเป็น กวีสี่แผ่นดิน เนื่องจากท่านมีชีวิตอยู่ใน 4 รัชกาล (ร.1 ถึง ร.4)

2) เนื่องจากบิดามารดาหย่าร้างกัน ทำให้สุนทรภู่ได้ไปอยู่ในพระราชวังหลังกับมารดา ซึ่งถวายตัวเป็นนางนมของพระองค์เจ้าหญิงจงกล พระธิดาในเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ และตัวสุนทรภู่เองได้ถวายตัวเป็นข้าในกรมพระราชวังหลัง โอกาสด้านการศึกษาของท่านตั้งแต่วัยเด็ก คือการร่ำเรียนหนังสือกับพระในสำนักวัดชีปะขาว ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานนามในรัชกาลที่ 4 ว่า “วัดศรีสุดาราม” ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อย

3) สุนทรภู่ไม่ชอบทำงานอื่นนอกจากแต่งบทกลอน ซึ่งท่านสามารถทำได้ดีเยี่ยม เชื่อว่าผลงานประพันธ์ยุคแรกๆของท่าน ตั้งแต่อายุไม่ถึง 20 ปี คือ กลอนนิทานเรื่องโคบุตร ซึ่งเกิดขึ้นก่อนนิราศเมืองแกลงอันโด่งดังของท่าน

4) ตำราโหราศาสตร์ผูกดวงชะตาวันเกิดของสุนทรภู่ไว้เป็นดวงประเทียบ พร้อมคำอธิบายข้างใต้ดวงชะตาว่า "สุนทรภู่ อาลักษณ์ขี้เมา" เหตุนี้จึงเป็นที่กล่าวขานกันเสมอมาว่า สุนทรภู่นี้ขี้เหล้านัก ในงานเขียนของท่านก็ปรากฏบรรยายถึงความมึนเมาอยู่หลายครั้ง ซึ่งดูเหมือนว่า สุนทรภู่เองก็รู้ว่าการมึนเมาสุราเป็นสิ่งไม่ดี จึงได้เขียนตักเตือนผู้อ่านอยู่ในงานเขียนเสมอ และท่านมักเปรียบการ "เมาเหล้า"กับ"การเมารัก" สะท้อนชีวิตรักของท่าน ที่ดูจะไม่สมหวังเท่าที่ควร

5) เมื่อพูดถึงเรื่องราวความรักของสุนทรภู่ ท่านมีภรรยา 3 คน คนแรกชื่อแม่จัน ต่อมาแยกทางกันจึงได้ภรรยาคนที่สองและสาม ชื่อแม่นิ่ม และแม่ม่วง ตามลำดับ  นอกจากนี้ ยังปรากฏชื่อหญิงสาวมากหน้าหลายตาที่สุนทรภู่พรรณนาถึง เมื่อเดินทางไปถึงหย่อมย่านมีชื่อเสียงคล้องจองกับหญิงสาวเหล่านั้น ด้วยเหตุนี้ นักวิจารณ์หลายคนจึงมองว่า ท่านสุนทรภู่เป็นคนเจ้าชู้

วัดศรีสุดาราม ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อย เดิมชื่อวัดชีปะขาว (ขอบคุณภาพจากเพจวัดวาอาราม)

6) ขุนวิจิตรมาตรา (นามเดิม สง่า กาญจนาคพันธุ์) เคยค้นชื่อ “สตรี” ที่เข้ามาเกี่ยวพันกับสุนทรภู่ในงานประพันธ์ต่าง ๆ ของท่าน ได้ชื่อออกมากว่า 12 ชื่อ ได้แก่ จัน พลับ แช่ม แก้ว นิ่ม ม่วง น้อย นกน้อย กลิ่น งิ้ว สุข ลูกจันทน์ และอื่น ๆ อีก แต่เกี่ยวกับชื่อหญิงสาวในงานประพันธ์นั้น สุนทรภู่เคยปรารภออกตัวเอาไว้ว่า การพรรณนาถึงหญิงสาวในบทประพันธ์ของท่าน เป็นไปเพื่อให้ได้อรรถรสในงานประพันธ์เท่านั้น จะถือเป็นจริงเป็นจังไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เป็นที่สังเกตว่า สตรีในดวงใจที่สุนทรภู่ รำพันถึงอยู่เสมอในผลงานของท่าน ก็คือแม่จัน ซึ่งเป็นรักครั้งแรกที่คงไม่อาจลืมเลือนได้

7) สุนทรภู่มีบุตรชายสามคน คือพ่อพัด เกิดจากภรรยาคนแรกคือแม่จัน พ่อตาบ เกิดจากภรรยาคนที่สองคือแม่นิ่ม และพ่อนิล เกิดจากภรรยาที่ชื่อแม่ม่วง นอกนั้น ก็ยังมีบุตรบุญธรรมอีกสองคน ชื่อพ่อกลั่น และพ่อชุบ

8) เมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่6) ทรงตราพระราชบัญญัตินามสกุลขึ้น ตระกูลของสุนทรภู่ได้ใช้นามสกุลต่อมาว่า ภู่เรือหงส์ (บางสายสกุลอาจเป็น ภู่ระหงษ์) ซึ่งตั้งขึ้นเองจากชื่อสุนทรภู่ซึ่งเป็นปู่ (สุนทรภู่เคยอยู่บนเรือหงส์) สืบลงมาทางหลานของพัด ภู่เรือหงส์

ทั้งนี้ ก.ศ.ร. กุหลาบ เคยเขียนไว้ในหนังสือสยามประเภท อ้างถึงผู้ถือนามสกุล ภู่เรือหงส์ ที่ได้รับบำเหน็จจากหมอสมิทเป็นค่าพิมพ์หนังสือเรื่อง พระอภัยมณี แต่หนังสือของ ก.ศ.ร. กุหลาบ ไม่เป็นที่ยอมรับของราชสำนัก ด้วยปรากฏอยู่บ่อยครั้งว่ามักเขียนเรื่องกุ เรื่องนามสกุลของสุนทรภู่จึงพลอยไม่ได้รับการเชื่อถือไปด้วย จนกระทั่ง ศ. ผะอบ โปษะกฤษณะ ยืนยันความข้อนี้เนื่องจากเคยได้พบกับหลานปู่ของพ่อพัด (พ่อพัด เป็นบุตรของสุนทรภู่) มาด้วยตนเอง

9) อันว่า "กวี" นั้นแบ่งได้เป็น 4 จำพวก คือ จินตกวี ผู้แต่งโดยความคิดของตน สุตกวี ผู้แต่งตามที่ได้ยินได้ฟังมา อรรถกวี ผู้แต่งตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และปฏิภาณกวี ผู้มีความสามารถใช้ปฏิภาณแต่งกลอนสด เมื่อพิจารณาจากความรู้และทักษะทั้งปวงของสุนทรภู่แล้ว อาจลงความเห็นได้ว่า สุนทรภู่เป็น “มหากวีเอก” ที่มีความสามารถครบทั้ง 4 ประการอย่างแท้จริง ผลงานของท่านมีหลากหลายประเภท ได้แก่ นิราศ นิทาน สุภาษิต บทละคร บทเสภา และบทเห่กล่อมพระบรรทม เป็นต้น

กุฏิสุนทรภู่ภายในวัดเทพธิดาราม กรุงเทพฯ ปัจจุบันเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ (ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์ https://www.thailibrary.in.th)

10) อนุสาวรีย์และหุ่นปั้นของท่านนั้น ที่คุ้นตาที่สุดคือ อนุสาวรีย์สุนทรภู่ที่อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เป็นอนุสาวรีย์สุนทรภู่แห่งแรก สร้างขึ้นที่ ต.กร่ำ อ.แกลง จ.ระยอง ซึ่งเป็นบ้านเกิดบิดาของท่าน สุนทรภู่ วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2498 ล้อมรอบอนุสาวรีย์ของสุนทรภู่เป็นตัวละครในวรรณคดีเรื่องเอกของท่านคือ พระอภัยมณี

แต่รู้ไหมว่า ยังมีอนุสาวรีย์สุนทรภู่อยู่ที่จังหวัดอื่น ๆ อีก เช่นที่ท่าน้ำหลังวัดพลับพลาชัย ตำบลคลองกระแชง อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นจุดที่สุนทรภู่ได้เคยมาตามนิราศเมืองเพชร อันเป็นนิราศเรื่องสุดท้ายของท่าน และเชื่อว่าจังหวัดเพชรบุรีเป็นบ้านเกิดมารดาของท่าน

อนุสาวรีย์อีกแห่งหนึ่งตั้งอยู่ที่วัดศรีสุดาราม (วัดชีปะขาว) เนื่องจากเป็นสถานที่ที่เชื่อว่าท่านได้เล่าเรียนเขียนอ่านเมื่อวัยเยาว์ที่นี่ นอกจากนี้ มีรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งสุนทรภู่ ตลอดจนหุ่นขี้ผึ้งในวรรณคดีเรื่อง พระอภัยมณี จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย จังหวัดนครปฐมด้วย