นายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบ 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566
ในวันนี้จะเป็นการขับเคลื่อนการดำเนินงานในมาตรการที่ 8 ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัยและฟื้นฟูสภาพให้กลับสู่สภาพปกติ (ตลอดช่วงฤดูฝน) และมาตรการที่ 10 การเสริมสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชนในการแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ระหว่างภาครัฐกับประชาชนในพื้นที่
นอกจากนี้ สทนช.ร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมการฝึกเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร ทรัพยากร สถานที่ สิ่งอำนวยสะดวกต่างๆ สำหรับรับมือสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝนนี้เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจนเห็นผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม
โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อร่วมซักซ้อมการปฏิบัติตามมาตรการให้สามารถติดตาม ประเมิน บริหารจัดการ และคาดการณ์สถานการณ์น้ำ รวมถึงแจ้งเตือนและให้ความช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบอย่างมีความเป็นเอกภาพ ทันต่อสถานการณ์
รวมทั้งจะเกิดประโยชน์ร่วมกันในการปฏิบัติงาน การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เกิดทักษะ และประสบการณ์ในการปฏิบัติงานของหน่วยงานเครือข่ายด้วย
"การจัดโครงการในปีนี้ เป็นการถอดบทเรียนจากสถานการณ์ในปีที่ผ่านมา พบว่าอุทกภัยในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ เกิดฝนตกหนักและประสบอุทกภัยในหลายพื้นที่
กอนช.ได้บูรณาการหน่วยงาน เพื่อเตรียมการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ เป็นอย่างดี จนทำให้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากจึงนำมาสู่การขยายผลทำให้เกิดเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการรับมือฤดูฝนในปีนี้ด้วย" นายบุญสม กล่าว
สำหรับรูปแบบการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุรับมือสถานการณ์อุทกภัยในครั้งนี้เป็นการฝึกซ้อมแผนบนโต๊ะ (Table Top Exercise:TTX) และจำลองสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ จ.เชียงราย
มีขั้นตอนการฝึกประกอบด้วยการจำลองการจัดตั้งศูนย์ส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย และใช้กลไกการปฏิบัติตามโครงสร้างของศูนย์ส่วนหน้า รวมทั้งการเตรียมความพร้อมทั้งเครื่องจักรเครื่องมือแผนเผชิญเหตุ โดยแบ่งการทำงานเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ส่วนอำนวยการ ส่วนปฏิบัติการ ส่วนสนับสนุน และส่วนประชาสัมพันธ์
ทั้งนี้ การฝึกซ้อมตามโครงการดังกล่าวได้กำหนดพื้นที่ฝึกซ้อมและสถานการณ์การฝึกซ้อมไว้ทั้งหมด 6 ภูมิภาคใน 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย ขอนแก่น เพชรบุรี ยะลา ลพบุรี และปราจีณบุรี ในช่วงระหว่างเดือน มิ.ย.-ส.ค.66