วินาทีที่ "ทูตสันถวไมตรี พลายศักดิ์สุรินทร์" หรือที่ถูกเรียกในภาษาศรีลังกาว่า มุทุราชา (Muthu Raja) หลังถูกส่งไปเป็นทูตเชื่อมสัมพันธ์ประเทศให้กับศรีลังกากว่า 22 ปี ก้าวเท้าหลังเหยียบแผ่นดินแม่ "The Motherland" สร้างความปลาบปลื้มดีใจให้กับคนไทยทั้งประเทศราวกับว่าความหนักอึ้งในจิตใจได้ถูกคลี่คลายลง เพราะคนไทยเป็นห่วงเเละลุ้นกันมาตลอด ตั้งแต่มีข่าวการนำกลับบ้านเกิด เพราะสภาพร่างกายของพ่อพลายอ่อนแอเต็มทีเเล้ว
พลายศักดิ์สุรินทร์ ตอนนี้อยู่ที่สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ (ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย) จ. ลำปาง เจ้าหน้าที่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระบุว่า เมื่อคืนที่ผ่านมาซึ่งเป็นคืนแรก พ่อพลายศักดิ์สุรินทร์นอนหลับตามปกติ ไม่มีอาการผิดปกติ
ส่วนขั้นตอนในการดูแลต่อจากนี้ จะมีการเฝ้าระวังและสังเกตอาการ เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 30 วัน ภายใต้ระเบียบการควบคุมโรคระบาดสัตว์ กรมปศุสัตว์ เพื่อป้องกันโรคติดต่อบางชนิด และให้การรักษาควบคู่ไปด้วย เพื่อฟื้นฟูสุขภาพและสร้างความคุ้นเคยกับสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยอีกครั้ง
ใครที่ติดตามอาการของพลายศักดิ์สุรินทร์ สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ จัดให้มีการไลฟ์ผ่านทางแฟนเพจ ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง วันละ 2 ครั้งในเวลา 14.00 -14.30 น. และ 16.00 -16.30 น. สามารถติดตามได้ที่เพจ The Thai Elephant Conservation Center Lampang
พลายศักดิ์สุรินทร์ : การทูตสิงสาราสัตว์ ที่ข้ามน้ำข้ามทะเลเชื่อมสัมพันธ์
ข้อมูลจาก มูลนิธิสืบนาคะสเถียร ระบุ เรื่องราวน่าเศร้าที่สะเทือนใจคนไทย เริ่มต้นมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รับแจ้งจากกระทรวงการต่างประเทศว่า องค์การพัฒนาเอกชนเพื่อการคุ้มครองสิทธิสัตว์ในศรีลังกา (Rally for Animal Rights & Environmnet (RARE) ที่กังวลต่อสุขภาพของพลายศักดิ์สุรินทร์ จากการดูแลที่ไม่เหมาะสม และจำเป็นต่อการเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน
พลายศักดิ์สุรินทร์ อายุกว่า 30 ปี มีขนาดตัวที่ผอมแห้ง กระดูกหลังโก่งนูน ผิวหนังแห้งหยาบ งายาวถึง 50 เซนติเมตร ขาหน้าด้านซ้ายผิดปกติ งอขาไม่ได้มานานกว่า 8 ปี มีฝีหนองที่สะโพกด้านขวาและซ้าย เป็นก้อนแข็ง มีหนองภายใน พบว่ามีอาการดังกล่าวมาตั้งแต่ พ.ศ. 2563 ฝ่าเท้าบางขึ้นเพราะยืนนาน อารมณ์เซื่องซึม เครียด และตกมันได้ง่าย ผู้ดีแลตัดสินใจล่ามโซ่ไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ไปทำร้ายคนอื่น
นี่จึงเป็นที่มาของการหารือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเดินเรื่องขอให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ ตรวจสอบเรื่องนี้และได้พา นายทองสุก มะลิงาม ผู้เป็นเจ้าของพลายศักดิ์สุรินทร์ไปที่ศรีลังกาด้วย
ในที่สุด 9 พฤศจิกายน 2565 จึงได้นำพลายศักดิ์สุรินทร์ไปสวนสัตว์เดฮิวา เพื่อเข้ารับการรักษาเบื้องต้นและฟื้นฟูท่ามกลางการดูแลของผู้เชี่ยวชาญทั้งชาวไทยและศรีลังกา กระทั่งได้กลับมาสู่อ้อมอกแผ่นดินไทยเมื่อวันที่ 2 ก.ค.2566
หากพูดถึงเรื่องการใช้สัตว์เป็นทูตสันถวไมตรี จะพบว่ามีสัตว์หลายชนิดมักถูกใช้เป็นตัวแทนทางการทูตในการเจริญสัมพันธไมตรีกันระหว่างประเทศ จนหลายฝ่ายตั้งคำถามกับแนวทางนี้ว่า สมควรหรือไม่ที่ใช้สัตว์เป็นทูต เพราะที่สุดแล้ว เมื่อทูตสันถวไมตรีไม่ได้รับการดูแลอย่างดี ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ?
ทำไมศรีลังกาจึงต้องขอช้างจากไทย
ข้อมูลนี้เป็นส่วนหนึ่งจากเว็บไซต์ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ ระบุว่า ช้างเป็นสิ่งที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ ในกรณีของไทยกับศรีลังกา ทั้งสองประเทศมีช้างเป็นสัตว์ที่มีคุณค่าเหมือนกัน แต่สิ่งที่เฉพาะของศรีลังกาก็คือ ช้างศรีลังกาเป็นพันธ์ E. m. maximus มีรูปร่างใหญ่ ตัวสีดำ ใบหูใหญ่และมีสีกระจายมากบริเวณใบหู ใบหน้า งวงและลำตัว มักจะเป็นช้างสีดอหรือไม่มีงา เป็นช้างที่มีอยู่ในป่าตามธรรมชาติเฉพาะในประเทศศรีลังกาเท่านั้น
ช้างเอเชียพันธุ์ศรีลังกาตัวผู้ หรือช้างพลายส่วนใหญ่จะเป็นช้างสีดอ คือ ไม่มีงาคงมีแต่ขนายซึ่งเป็นงาขนาดเล็กโตประมาณเท่าข้อมือ (เส้นรอบวงประมาณ 15-20 เซนติเมตร) และพันธ์นี้ในช้างเพศผู้จะพบว่ามีงาเพียง ร้อยละ 10 เท่านั้น สำหรับช้างไทย เป็นพันธ์ E. m.indicus เป็นช้างที่เพศผู้จะมีงา และงายาวถึงยาวมาก
นี่อาจจะเป็นเหตุผลว่าทำไมศรีลังกาจึงมีความต้องการที่จะได้ช้างที่มีงายาว สวยงามเพื่อนำมาใช้ในพิธีกรรมในเทศกาลทางศาสนาซึ่งถือว่าเป็นความสง่างาม สมเกียรติแก่แผ่นดินและสถาบันกษัตริย์ในสมัยโบราณ ซึ่งเท่าที่มีข้อมูลก็ไม่ได้ขอเฉพาะช้างไทยแต่ช้างจากประเทศต่างๆ หลายประเทศ เช่น บังคลาเทศ แอฟริกา อินเดียเป็นต้น
การทูตสิงสาราสัตว์ จากสิ่งของมีค่าสู่สิ่งมีชีวิต
หากใครเคยดูละครที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ก็คงคุ้นชินกับการทูตที่ในอดีตเเละจนถึงปัจจุบัน เป็นส่วนหนึ่งของการเดินหน้าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งการเจรจาต่อรอง หรือแม้การสร้างข้อตกลงร่วมกันบางอย่าง ที่เคยได้ดู ได้ยิน ก็คงจะมีเรื่องการแลกเปลี่ยนสิ่งของมีค่า เช่น เงินทอง ต้นไม้ทอง สิ่งของมีค่าของรัฐนั้นๆ หรือที่เรียกว่า เครื่องราชบรรณาการ มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เพื่อผูกมิตรไมตรีหรือแสดงความเคารพ
ปัจจุบันก็ยังมีการแลกเปลี่ยนทางการทูตด้วยวิธีนี้อยู่เเต่เราจะพูดถึง การใช้สัตว์เชื่อมความสัมพันธ์ ด้านล่างนี้คือสัตว์ที่ดีที่สุดบางส่วน ที่ทำหน้าที่เป็นการแลกเปลี่ยนทางการทูต
การทูตลูกหมา โกมีและซงกัง ของขวัญสันติภาพ เกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้
ปี 2561 คิมจองอึน ผู้นำสูงสุดแห่งเกาหลีเหนือ มอบให้เป็นของขวัญเป็นสุนัขพันธุ์พุงซาน (Pungsan) จำนวน 2 ตัว แก่ "มุนแจอิน" ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ หลังจากที่มุนและภริยาเดินทางเยือนกรุงเปียงยางของเกาหลีเหนือเมื่อเดือน ก.ย. เพื่อสานต่อการเจรจาเพื่อสันติภาพในคาบสมุทรเกาหลีครั้งที่ 3 ซึ่งบางทีอาจเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นระหว่างสองประเทศ แต่เเล้วนายมุนผู้นิยมเสรีได้เลิกเลี้ยงสุนัขเหล่านี้ โดยอ้างถึงการขาดการสนับสนุนทางการเงินสำหรับสุนัขจากรัฐบาลอนุรักษ์นิยม ชีวิตของสุนัขจึงจบลงที่สวนสัตว์ในเกาหลีใต้ ที่ดำเนินการโดยรัฐบาลท้องถิ่นในเมืองควังจูทางตอนใต้เมื่อเดือนธันวาคม 2565
การทูตแพนด้า พลังขนฟูสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
แพนด้าเป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพและมิตรภาพสำหรับชาวจีน สัตว์ชนิดนี้ถูกใช้โดยรัฐบาลเพื่อเพิ่มผลทางการเมืองเป็นเวลาหลายปีแล้ว โดยเป็นส่วนหนึ่งของ "การทูตแพนด้า" ตั้งแต่ปี 2500 จีน ได้มอบแพนด้าในประเทศให้กับประเทศต่าง ๆ เพื่อเป็นการเชื่อมมิตรภาพ แฝงนัยของ Soft Power ด้วย
การทูตแพนด้าเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถังในศตวรรษที่ 7 จักรพรรดินีบูเช็กเทียนส่งแพนด้าเป็นของขวัญทั้งหมด 2 ตัวไปญี่ปุ่น
ในปี 1957 โดยปักกิ่งได้มอบ "ผิงผิง Ping Ping" ให้กับสหภาพโซเวียตในอีดตเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศร่วมกัน ตามมาด้วยของขวัญที่คล้ายกันที่มอบให้กับสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือในฐานะ "สัญลักษณ์แห่งมิตรภาพและความปรารถนาดี" ในปี 2525 รัฐบาลได้ยกเลิกนโยบายการให้แพนด้าเนื่องจากสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ การทูตที่น่ากอดของจีนเปลี่ยนไปและเริ่มถูกยืมไปยังบางประเทศ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายและเงื่อนไขประกอบที่ประเทศปลายทางต้องปฏิบัติตาม เช่น สวนสัตว์ต่างประเทศต้องจ่ายเงินประมาณ 500,000 - 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีให้กับจีน ลูกหมีแพนด้าก็ยังถือเป็นทรัพย์สินของจีน
ผู้นำมาดเข้มแห่งรัสเซีย "วลาดิเมียร์ ปูติน" ใจละลายเมื่อได้ของขวัญวันเกิดเป็นน้องหมา
ปี 2560 ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซียได้รับของขวัญวันเกิดวัย 65 ปีเป็นลูกสุนัขสายพันธุ์ Alabai จากประธานาธิบดี กูร์บันกูลือ เบร์ดือมูฮาเมดอว์ ของเติร์กเมนิสถานเพื่อกอบกู้ความสัมพันธ์กับรัสเซียที่หายไปในตลาดก๊าซของประเทศ
ผลกระทบทางการทูตของสุนัขตัวนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่รัสเซีย มีแผน จะกลับมานำเข้าก๊าซธรรมชาติจากเติร์กเมนิสถานในปีถัดไป (Russia To Start Importing Gas From Turkmenistan Again Next Year, Gazprom Says) โดยพื้นฐานแล้วปูตินเป็นคนรักสุนัขและการมาเยือนของเติร์กเมนิสถานคงไม่ใช่แค่ให้ของขวัญปูตินเป็นแน่
การทูตโคอาลา ทูตน้อยกลอยใจของออสซี่
ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2557 ออสเตรเลียเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอด G-20 ที่นครบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย นายโทนี่ แอ็บบ็อต รัฐมนตรีออสเตรเลีย นำหมีโคอาล่า สัตว์ท้องถิ่นที่มีเฉพาะในประเทศของมาเป็นเครื่องมือทางการทูต
ก่อนหน้าที่จะมีการประชุมอย่างตึงเครียด โทนี่ แอ็บบ็อต รัฐมนตรีออสเตรเลีย พาผู้นำชาติ G20 ไปอุ้มหมีโคอาล่าถ่ายรูปกัน ตั้งแต่ ปูตินแห่งรัฐเซีย ประธานาธิบดีบารัก โอบามา นางเผิง หลี่หยวน สุภาพสตรีหมายเลข 1 ของจีน พากันเข้าแถวรออุ้มเจ้าหมีโคอาลากันอย่างสนุกสนาน
ความสำคัญของช้างในประเทศไทย
ช้างมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของไทยมาตั้งแต่โบราณ จุดเริ่มต้นของอารยธรรมไทยตั้งแต่ในช่วงศตวรรษที่ 13 นั้น ช้างเป็นสัตว์คู่บารมีของพระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่สมัยราชอาณาจักรสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน
สำหรับชาวไทย ช้างเป็นสัตว์ชั้นสูง มีความฉลาดและคู่ควรกับการดำรงตำแหน่งเคียงข้างพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะช้างเผือกที่ได้รับเลือกให้เป็นช้างในพระราชพิธีต่าง ๆ เพราะเป็นช้างที่หายากและมีสถานภาพที่ศักดิ์สิทธิ์
ช้างในการทำศึกสงคราม
ด้วยขนาดและพละกำลังมหาศาล ช้างจึงถูกใช้ออกรบในสมรภูมิกับข้าศึก การที่ช้างสามารถบรรทุกทหารและออกวิ่งด้วยความเร็วถึง 25 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทำให้ช้างได้รับการโจษขานว่าเป็นกองกำลังอันน่าพรั่นพรึงของกองทัพ โดยเฉพาะรูปลักษณ์ที่ใหญ่มหึมา ความเร็ว ความแข็งแกร่งและความสามารถในการทำลายทุกสิ่งกีดขวางในสมรภูมิ
ช้างที่ได้รับเลือกให้พระมหากษัตริย์ทำยุทธหัตถีมักเป็นช้างพลายที่มีขนาดใหญ่และมีกะโหลกกว้าง มีงายาวและแหลมคมสามารถใช้โจมตีศัตรูได้
ช้างกับพระพุทธศาสนา
มีเรื่องราวของช้างในพุทธประวัติและพุทธชาดก ทำให้ช้างได้กลายเป็นสัตว์ที่มีสถานะศักดิ์สิทธิ์ ช้างยังมีความเกี่ยวข้องกับศาสนาฮินดู โดยมีเทพที่หลายคนยกย่องบูชา เช่น พระพิฆเนศ ซึ่งเป็นเทพผู้มีเศียรเป็นช้างที่ให้โชคลาภและความสำเร็จ และช้างเอราวัณหรือไอราวตา ซึ่งเป็นช้างเผือกที่มีสามเศียรเป็นพาหนะของพระอินทร์ โดยเชื่อว่าจะนำพรมาให้
ช้างสำหรับแรงงานและเป็นพาหนะในการคมนาคม
ช้างเป็นประโยชน์สำหรับชาวไทยเป็นอย่างมาก ด้วยขนาดใหญ่และแข็งแรง ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา ช้างถูกใช้สำหรับงานในครัวเรือนและถือเป็นแรงงานสำคัญในการเกษตรกรรมและงานก่อสร้าง เช่น การใช้ช้างลากคันไถในการเพาะปลูก การบรรทุกสินค้าจำนวนมาก และการลากไม้ซุงในอุตสาหกรรมป่าไม้ ช้างเป็นพาหนะหลักในการขนส่งและคมนาคมในประเทศไทยมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ โดยต่อมาการใช้งานของช้างได้ลดลงเมื่อมีการเริ่มใช้ยานยนต์ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19
ข้อมูล
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน
The Thai Elephant Conservation Center Lampang
China's 'panda diplomacy': All you need to know
7 times cute animals helped change the course of history
Self-proclaimed dog lover Vladimir Putin gets a puppy as a gift from the Turkmen president