นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยหลังลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำจังหวัดบุรีรัมย์และการเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝนปี 66 ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงติดตามความก้าวหน้าโครงการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง พื้นที่เฉพาะ (Area Based) มูลตอนกลาง ณ อ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก อ.เมือง จ.บุรีรัมย์
ทั้งนี้ ปัจจุบันปริมาณฝนสะสมทั้งประเทศตั้งแต่ 1 ม.ค. 66 ถึงปัจจุบัน น้อยกว่าค่าปกติ 24% และในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือน้อยกว่าค่าปกติ 19%
สำหรับสถานการณ์น้ำปัจจุบันของ จ.บุรีรัมย์ มีปริมาณน้ำรวมอยู่ที่ 248 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 51% ซึ่งมีปริมาณน้ำน้อยกว่า ปี 65 จำนวน 79 ล้าน ลบ.ม. โดยมีแหล่งน้ำขนาดกลาง 1 แห่ง จาก 11 แห่ง ที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% คือ อ่างเก็บน้ำห้วยสวาย จากการตรวจสอบไม่พบพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำด้านอุปโภคบริโภค แต่มีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำด้านการเกษตรในพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีในเขต 16 ตำบล 13 อำเภอ และเป็นพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ
ด้านไม้ผลที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจในเขต 2 ตำบล 2 อำเภอ ประกอบด้วย ต.สระทอง อ.หนองหงส์ ต.ดอนมนต์ อ.สตึก ต.หนองคู ต.หนองกระทิง ต.โคกกลาง ต.เมืองแฝก ต.บ้านยาง ต.หินโคน อ.ลำปลายมาศ
ต.ละหานทราย อ.ละหานทราย ต.บ้านแวง อ.พุทไธสง ต.จันดุม ต.ป่าชัน ต.สะเดา อ.พลับพลาชัย ต.แสลงโทน ต.ละเวี้ย ต.ไพศาล อ.ประโคนชัย ต.นางรอง อ.นางรอง ต.หนองปล่อง อ.ซำนิ ต.คูเมือง อ.คูเมือง ต.กระสัง ต.สองชั้น อ.กระสัง ต.บ้านบัว ต.สะแกโพรง ต.หนองตาด ต.กระสัง อ.เมืองบุรีรัมย์ และต.ตาเป๊ก อ.เฉลิมพระเกียรติ สทนช.ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือแล้ว
และได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 66 ทั้ง 12 มาตรการอย่างเคร่งครัด และกำชับทุกหน่วยงานเตรียมแผนการรับมือ หากเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงจากสถานการณ์เอลนีโญเพื่อให้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนให้ทันกับสถานการณ์
อย่างไรก็ดี สทนช. ได้ศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง พื้นที่เฉพาะ (Area Based) มูลตอนกลาง บุรีรัมย์-สุรินทร์ ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ บุรีรัมย์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด สุรินทร์ และศรีสะเกษ (บางส่วน) เพื่อศึกษา วิเคราะห์ สภาพพื้นที่และปัญหาของพื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมและภัยแล้งซ้ำซาก โดยจัดทำแผนหลักการพัฒนาแหล่งน้ำเชิงพื้นที่อย่างบูรณาการ ให้สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
โดยมีเป้าหมายให้เข้าถึงน้ำประปาทุกหมู่บ้านและชุมชนจำนวน 45,955 ครัวเรือน ปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น 370 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 370,000 ไร่
อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก ณ ปัจจุบัน มีปริมาณน้ำ 11.2 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 43% และ อ่างฯห้วยตลาด มีปริมาณน้ำ 12.9 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 42% ซึ่งทั้งสองแห่งเป็นแหล่งน้ำหลักด้านอุปโภคบริโภคที่หล่อเลี้ยงอำเภอเมืองบุรีรัมย์
จากการคาดการณ์ปริมาณน้ำ จะเพียงพอสำหรับการผลิตน้ำประปาในพื้นที่ชุมชนเมืองบุรีรัมย์ และได้กำชับให้เตรียมการรับสถานการณ์เอลนีโญ ติดตาม เฝ้าระวัง และควบคุมการบริหารจัดการน้ำอย่างเคร่งครัดให้เพียงพอถึงฤดูแล้งปี 67/68
สำหรับการสร้างความมั่นคงด้านน้ำเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและชุมชน ได้มีการลงพื้นที่ติดตาม โครงการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลระยะไกลเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ขาดแคลนน้ำ ณ บ้านอุบลสามัคคี หมู่ที่ 11 ต.โนนสุวรรณ อ.โนนสุวรรณ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งสำนักทรัพยากรน้ำบาดาลเขต 5 และ อบต.โนนสุวรรณ จ.นครราชสีมา ได้ดำเนินการแล้วเสร็จในปี 66
โดยเจาะบ่อน้ำบาดาลในพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงและสร้างระบบกระจายน้ำ ส่งน้ำมายังโรงพยาบาลโนนสุวรรณ ซึ่งประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ และส่งน้ำให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง โดยโครงการฯดังกล่าวสามารถเพิ่มปริมาณน้ำสำหรับใช้ประโยชน์ 1.06 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี มีผู้ได้รับประโยชน์ 400 ครัวเรือน และในอนาคตสามารถขยายพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์ ได้รวมกว่า 2,000 ครัวเรือน