“รักษ์ทะเล” ฟื้นฟูทะเลไทย สร้างบ้านปะการังด้วยเศษคอนกรีต

23 ก.ค. 2566 | 06:05 น.
อัพเดตล่าสุด :23 ก.ค. 2566 | 06:09 น.

ศุภาลัยจับมือเอสซีจี เดินหน้าโปรเจ็กต์ “รักษ์ทะเล” เปลี่ยนเศษคอนกรีตเหลือใช้เป็นบ้านปะการัง ด้วยเทคโนโลยี CPAC 3D Printing Solution คืนความอุดมสมบูรณ์แก่ท้องทะเลไทย

“รักษ์ทะเล” ซึ่งดำเนินการโดยมูลนิธิ Earth Agenda ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และพันธมิตรธุรกิจอย่าง SCG เป็นโครงการที่มุ่งมั่นในการยกระดับพัฒนานวัตกรรมมาปรับใช้

ในการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรของประเทศ อันเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ หนึ่งในโครงการความร่วมมือที่มุ่งฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์กลับสู่ท้องทะเลไทย สร้างความมีส่วนร่วมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม และชุมชนคนรุ่นใหม่

“รักษ์ทะเล” ฟื้นฟูทะเลไทย สร้างบ้านปะการังด้วยเศษคอนกรีต

ล่าสุด การเดินหน้าโครงการรักษ์ทะเลในครั้งใหม่ ได้พันธมิตรอย่าง “ศุภาลัย” เข้าร่วมสนับสนุนเป็นพลังขับเคลื่อนให้เกิดความร่วมมือกันในอนาคตและสามารถขยายผลอย่างเป็นรูปธรรมได้จริง อันจะก่อให้เกิดความยั่งยืนถึงคนรุ่นต่อๆ ไป

ศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ ประธานมูลนิธิ Earth Agenda กล่าวว่า มูลนิธิมุ่งมั่นที่จะสร้างความตระหนักรู้ เพื่อฟื้นฟูการอนุรักษ์ธรรมชาติ พร้อมสร้างความมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน ตลอดจนเครือข่ายชุมชนในพื้นที่ เครือข่ายนักดำน้ำ และผู้มีจิตอนุรักษ์ ตลอดจนการพัฒนารูปแบบใหม่ๆ ในการช่วยชีวิตสัตว์ทะเล เช่น โครงการหญ้าทะเล โครงการจัดทำขาเต่าเทียม

สำหรับโครงการล่าสุด “รักษ์ทะเล” มูลนิธิเป็นตัวกลางในการเปิดขอรับการสนับสนุนระดมทุน เพื่อผลิตและจัดวางบ้านปะการัง “บ้านปะการัง” ด้วยเทคโนโลยี CPAC 3D Printing Solution น้ำ โดย “ศุภาลัย” ได้นำเศษคอนกรีตรีไซเคิลในกระบวนการก่อสร้าง ซึ่งเกิดจากนำลูกปูนที่ใช้ในการทดสอบกำลังอัดคอนกรีต มาเป็นส่วนผสมทดแทนหินปูน

“รักษ์ทะเล” ฟื้นฟูทะเลไทย สร้างบ้านปะการังด้วยเศษคอนกรีต

ทำให้วัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการังที่ผลิตโดยเทคโนโลยี CPAC 3D Printing Solution นั้น มีรูปทรงที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติ แข็งแรง ทนทาน และทำมาจากปูนซีเมนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล ทำให้สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน

นับเป็นนวัตกรรมที่จะเปลี่ยนโลกนี้ให้เป็นโลกที่น่าอยู่ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะโลกใต้ทะเล ซึ่งเป็นระบบนิเวศหลักและเป็นแหล่งกำเนิดของหลากหลายชีวิต

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 43 ฉบับที่ 3,906 วันที่ 20 - 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2566