ครม.เห็นชอบป่าชายเลน 2 จังหวัดเกือบ 3 หมื่นไร่ เป็นป่าชายเลนอนุรักษ์

25 ก.ค. 2566 | 11:45 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.ค. 2566 | 11:48 น.

ครม. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงให้พื้นที่ป่าชายเลนใน อ.เมือง-หนองจิก-ยะหริ่ง-ไม้แก่น จ.ปัตตานี จำนวน 19,937 ไร่ และพื้นที่ใน อ.บ้านแหลม-ชะอำ จ.เพชรบุรี จำนวน 9,534 ไร่ เป็นพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์

25 กรกฎาคม 2566 นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดให้พื้นที่ป่าชายเลนในจังหวัดปัตตานีเป็นพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์ พ.ศ. .... และ ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้พื้นที่ป่าชายเลนในจังหวัดเพชรบุรีเป็นพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์ พ.ศ. ....  ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ

โดยได้ดำเนินการพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในจังหวัดปัตตานีและจังหวัดเพชรบุรี ทั้งประชาชนทั่วไป ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ป่าชายเลน ชาวประมง ผู้ประกอบการ และหน่วยงานภาครัฐ ประกอบกับคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติเห็นชอบในการเสนอร่างกฎกระทรวงดังกล่าวด้วยแล้ว

ร่างกฎกระทรวงนี้เป็นการออกตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้พื้นที่ป่าชายเลน ซึ่งประกอบด้วย

เนื้อที่ประมาณ 19,937 ไร่ ใน จ.ปัตตานี 

  • ต.ท่ากำชำ ต.บางเขา ต.บางตาวา ต.ตุยง อ.หนองจิก
  • ต.รูสะมิแล ต.บานา ต.ตันหยงลุโละ อ.เมืองปัตตานี
  • ต.แหลมโพธิ์ ต.บางปู ต.ยามู ต.ตะโละกาโปร์ อ.ยะหริ่ง
  • ต.ไม้แก่น ต.ไทรทอง ต.ดอนทราย อ.ไม้แก่น

เนื้อที่ประมาณ 9,534 ไร่ ใน จ.เพชรบุรี

  • ต.บางตะบูน ต.บางตะบูนออก ต.บ้านแหลม ต.บางขุนไทร ต.ปากทะเล ต.บางแก้ว ต.แหลมผักเบี้ย อ.บ้านแหลม
  • ต.ชะอำ อ.ชะอำ

โดยพื้นที่ดังกล่าวมีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและมีค่า เช่น พันธุ์ไม้ ของป่า และสัตว์ป่านานาชนิด ตลอดจนทิวทัศน์ที่สวยงามยิ่ง เป็นพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์ รวมทั้งกำหนดมาตรการคุ้มครองเพื่อประโยชน์ในการสงวน การอนุรักษ์ และการฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลน ให้คงสภาพธรรมชาติและมีสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศที่มีความสมบูรณ์

การบริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนภายในแนวเขตพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์ให้ดำเนินการ อาทิ ให้ชุมชนชายฝั่งที่ได้ขึ้นทะเบียนตามระเบียบกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำแผนการบริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนอนุรักษ์เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยครอบคลุมทั้งมิติทางด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม อย่างสมดุล

การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือการเพาะพันธุ์พืช หรือการปลูกฟื้นฟูป่าชายเลนในพื้นที่เสื่อมโทรมและใช้ประโยชน์จากไม้ที่ปลูกขึ้นที่มิใช่ไม้หวงห้ามเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เป็นต้น ​​​​​​