กรมอุตุนิยมวิทยา อัพเดทเส้นทางพายุไต้ฝุ่น "ขนุน (KHANUN)" วันที่ 2 สิงหาคม 2566 โดยในช่วงเช้ายังมีศูนย์กลางบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก กำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตกเฉียงเหนือ ค่อนไปทางเหนือ และมีโอกาสเคลื่อนตัวไปทางประเทศญี่ปุ่น ช่วงวันที่ 5 - 7 ส.ค.66 ทั้งนี้ทิศทางไม่ได้มุ่งเข้าสู่ประเทศไทย จึงไม่มีผลกระทบกับไทย
ขณะที่นายชวลิต จันทรรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีมคอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จํากัด (มหาชน) หรือ ทีมกรุ๊ป ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Chawalit Chantararat "เกี่ยวกับพายุไต้ฝุ่นขนุน โดยมีรายละเอียดไทม์ไลน์ดังต่อไปนี้
พายุไต้ฝุ่นขนุน (06:Khanun=ขนุนของไทย) เป็นพายุที่ก่อตัวขึ้นเป็นลูกที่ 6 ของปีนี้ อยู่ในทะเลทางตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก เคลื่อนที่ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
- วันที่ 31 ก.ค. ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไต้ฝุ่นระดับ 4 (สูงสุด 5)
- คืนวันที่ 1 ถึง 2 ส.ค. เคลื่อนตัวเข้าปกคลุม และทำให้ฝนตกหนักมาก ที่เกาะโอกินาวะ
- วันที่ 3 ส.ค. เคลื่อนที่ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเล็กน้อย ไปทำให้ฝนตกหนักมาก กระจายตัวอยู่ทั่วไป ที่ไต้หวัน
- วันที่ 4 ส.ค. เปลี่ยนทิศทางเคลื่อนตัวไปเป็นทางตะวันออกเฉียงเหนือ แล้วอ่อนกำลังลงเป็นพายุไต้ฝุ่นระดับ 3 และ 2 ตามลำดับ
- วันที่ 6 ถึง 7 เคลื่อนที่วนกลับมา ทำให้ฝนตกหนักที่เกาะโอกินาวะ และอ่อนนตัวลงเป็นพายุไต้ฝุ่นระดับ 1
- วันที่ 8 และ 9 ส.ค. เคลื่อนตัวไปทางทิศเหนือขึ้นฝั่ง ทำให้ฝนตกหนัก ทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น
สำหรับพายุไต้ฝุ่นขนุน ไม่มาไทย อย่างไรก็ดีประเทศไทยยังคงมีฝนตก
- วันที่ 30 ก.ค. ถึง 4 ส.ค. จะมีฝนตกปานกลางทั่วไป โดยจะมีฝนตกหนักเป็นหย่อมๆ เป็นบางแห่ง สลับกันไป ในพื้นที่ที่ติดกับประเทศพม่า ตั้งแต่เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน แม่สอด พบพระ กาญจนบุรี และพื้นที่ที่ติดแม่น้ำโขงตั้งแต่อุบลราชธานี มุกดาหาร นครพนม บึงกาฬ หนองคาย อุดรธานี เลย และน่าน และชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก
- วันที่ 5-8 ส.ค. ปริมาณฝนจะลดลง