"เพชร โอสถานุเคราะห์" อดีตซีอีโอ โอสถสภา หัวใจวายเฉียบพลัน ในวัย 69 ปี

15 ส.ค. 2566 | 07:00 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ส.ค. 2566 | 09:24 น.

“เพชร โอสถานุเคราะห์” อดีตนักร้องชื่อดัง และอดีตซีอีโอ “โอสถสภา” เสียชีวิต ด้วยอาการหัวใจวายเฉียบพลัน ในวัย 69 ปี

เพชร โอสถานุเคราะห์  อดีตซีอีโอ บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) และอธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และเจ้าของผลงานเพลง “เพียงชายคนนี้ (ไม่ใช่ผู้วิเศษ)”  เสียชีวิตเมื่อคืนวันที่ 14 สิงหาคม 2566 ด้วยวัย 69 ปี โดยเบื้องต้นสันนิษฐานว่าเกิดอาการหัวใจวายเฉียบพลัน โดยทางครอบครัวเตรียมแถลงข่าวช่วงบ่ายวันนี้ และจะนำร่างของ เพชร โอสถานุเคราะห์ ไปบำเพ็ญกุศลที่ศาลโอสถานุเคราะห์ วัดธาตุทอง กรุงเทพฯ

ประวัติ เพชร โอสถานุเคราะห์ 

“เพชร โอสถานุเคราะห์”  เกิดเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2497 เป็นบุตรชายของนายสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และนางปองทิพย์ โอสถานุเคราะห์  เริ่มเรียนที่ประเทศไทยในระดับประถมศึกษาในเมืองไทยก่อนจะไปต่อระดับมัธยมศึกษาที่สหรัฐอเมริกา

เพชร โอสถานุเคราะห์ 

หลังจบแล้วกลับมาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพแต่เรียนเพียงสองปีจากนั้นก็บินไปเรียนทางด้านบริหารธุรกิจ สาขาการตลาด ที่มหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์นอิลินนอยส์ สหรัฐอเมริกา เมื่อเรียนจบก็กลับมาช่วยงานครอบครัวซักพักก็ออกมาทำธุรกิจโฆษณาตั้งบริษัทสปา แอดเวอร์ไทซิ่ง พร้อมทำนิตยสารสำหรับผู้หญิง และรายการโทรทัศน์ “ผู้หญิงวันนี้” ตามความชอบคิดสร้างสรรค์ในแบบฉบับของเขา และเข้ามาเป็นปรับโฉมมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ให้เป็น Creative University

“เพชร โอสถานุเคราะห์” ได้รังสรรค์ผลงานในวงการเพลงไม่น้อยไม่ว่าจะเป็นเพลง หมื่นฟาเรนไฮต์ ของวงไมโคร ขับร้อง ก่อนที่จะทำอัลบั้มแรกชุด  “ธรรมดา ... มันเป็นเรื่องธรรมดา”  ที่มีเพลงดังอย่าง “เพียงชายคนนี้ (ไม่ใช่ผู้วิเศษ)”

เพชร โอสถานุเคราะห์ 

ในปี 2550 ได้ออกผลงานอัลบั้มที่สอง  “Let's Talk About Love” และในปี พ.ศ. 2551 ได้นำผลงานชุดแรกไปรีมาสเตอร์ที่ประเทศอังกฤษ และนำกลับมาวางจำหน่ายใหม่โดยเจ้าตัวเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า ตั้งใจจะออกอัลบั้มใหม่ทุก 20 ปี ซึ่งชุดที่ 3 คงออกตอนที่เพชร อายุ 80 ปี ถ้าวันนั้นเขายังคงมีชีวิตอยู่  นอกจากจะมีงานเพลงแล้วเขายังมีงานเขียนทั้งเรื่องสั้นและนิยายและชื่นชอบในงานศิลปะ ซึ่งมีชิ้นงานสะสมอยู่มากกว่า 600 ชิ้น

ทั้งนี้ “เพชร โอสถานุเคราะห์” เคยดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) (OSP) ก่อนที่จะลาออกในปี 2563 ต่อมาในปี 2564 ผู้ถือหุ้นกลุ่ม Orizon (ครอบครัวโอสถานุเคราะห์) และเพชร โอสถานุเคราะห์ ขายหุ้นจำนวน 381 ล้านหุ้น หรือ 12.7% ของทุนจดทะเบียน มูลค่ากว่า 12,573 ล้านบาท ให้กับนายนิติ โอสถานุเคราะห์ 215 ล้านหุ้น หรือ 7.2% และกลุ่มนักลงทุนอื่น 166 ล้านหุ้น หรือ 5.5% 5.5% ของทุนจดทะเบียน  ส่งผลให้นายนิติ โอสถานุเคราะห์ มีสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มจาก 16.65% เป็น 23.8% จาก 16.65% และกลุ่ม Orizon ถือหุ้นลดลงจาก 27.75% เหลือเพียง 15.06%  

ขณะที่ “เพชร โอสถานุเคราะห์”  ขึ้นมาดำรงตำแหน่ง รองประธานกรรมการ และมอบหมายให้ นางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ ผู้บริหารที่มีประสบความสำเร็จในวงการธุรกิจที่ผ่านงานกับบริษัทไทยและบริษัทข้ามชาติกว่า 40 ปีมาดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหาร (ในขณะนั้น)

พร้อมแต่งตั้งให้ “ธนา ไชยประสิทธิ์” หนึ่งในผู้บริหารรุ่นที่สี่ของตระกูลโอสถานุเคราะห์ ขึ้นเป็นรักษาการ CEO โดยเป็นคณะกรรมการบริหารร่วมงานกับโอสถสภามานานกว่า 30 ปี เป็นผู้บริหารที่มีประสบการณ์ครอบคลุมในทุกธุรกิจของบริษัท เป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์และใกล้ชิดกับพนักงานทุกระดับ

ปัจจุบัน "เพชร โอสถานุเคราะห์" ดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการ บริษัท ชิเซโด้ (ไทยแลนด์) จำกัด และอธิการบดีสุดเฟี้ยวของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผู้ให้นิยาม “มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยสร้างสรรค์” พร้อมทั้งสร้างแลนด์มาร์กอย่าง BU Diamond หรือ ตึกเพชร ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความสร้างสรรค์

เพชร โอสถานุเคราะห์

นอกจากนี้ "เพชร โอสถานุเคราะห์" ยังชื่นชอบงานศิลป์โดยเฉพาะงานศิลปะร่วมสมัย (Contemporary Art) โดยกำลังทำโครงการด้านศิลปะวัฒนธรรมและการศึกษาที่มีชื่อว่า “โครงการ Dib Bangkok” หรือ Dib Bangkok Museum of Contemporary Art ที่มีเป้าหมายเพื่อวางรากฐานของวงการศิลปะ วัฒนธรรม และการศึกษาของประเทศต่อไป

ด้านครอบครัว "เพชร  โอสถานุเคราะห์"  สมรสกับ อ.นฤมล โอสถานุเคราะห์ มีบุตรชาย 2 คน คือ คุณภูรี และ คุณภูรัตน์ โอสถานุเคราะห์