อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ ยืนยัน “เบี้ยผู้สูงอายุ” ยังได้เงินตามเดิม

16 ส.ค. 2566 | 06:48 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ส.ค. 2566 | 06:54 น.

อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุยืนยันผู้สูงอายุเดิมยังได้รับ 'เบี้ยผู้สูงอายุ' หลังรัฐบาลปรับเกณฑ์ใหม่ จนกว่าคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติออกระเบียบกฏเกณฑ์ใหม่ และ รอรัฐบาลใหม่พิจารณา

นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ เปิดเผยถึงกรณีกระทรวงมหาดไทยได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ่าย 'เบี้ยผู้สูงอายุ' ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 โดยระบุว่า ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงิน 'เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ' ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2566 และมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2566 ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการจ่าย 'เบี้ยผู้สูงอายุ' เนื่องจากมีการปรับปรุงในเรื่องคุณสมบัติผู้มีสิทธิได้รับ 'เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ' ข้อ 6(4) เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด 

 

ทั้งนี้ ระเบียบใหม่ได้กำหนดบทเฉพาะกาล ข้อ 17 วรรค 1 บรรดา 'ผู้สูงอายุ' ที่ได้ขึ้นทะเบียนและรับเงิน 'เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ' จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อยู่ก่อนระเบียบนี้ใช้บังคับให้ ยังมีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นต่อไป และ ข้อ 18 ในระหว่างที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วย 'ผู้สูงอายุ' ยังมิได้มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ ตามข้อ 6(4) ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้คุณสมบัติผู้รับ 'เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ' ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติมไปพลางก่อน

อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นของการปรับปรุงระเบียบดังกล่าว ซึ่งเป็นอำนาจของกระทรวงมหาดไทยนั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อ 'ผู้สูงอายุ' ที่รับเบี้ยยังชีพเดิม และยังคงสิทธิรับเบี้ยยังชีพจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกระทรวงมหาดไทยจะชี้แจงในรายละเอียดต่อไป อย่างไรก็ตาม กระทรวง พม. จะหารือในเรื่องระเบียบดังกล่าว ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้สูงอายุ

 

สถิตผู้สูงอายุในปี 2565 ดังนี้

จำนวนประชากรทั้งหมด 66,090,470 คน

  •  แบ่งเป็นชาย 32,270,615 คน และ หญิง 33,819860 คน

จำนวนผู้สูงอายุ 12,698,362 คน คิดเป็น 19.21% แบ่งเป็น ชาย 5,622,074 คน คิดเป็น 44.27%

  • หญิง 7,076,288 คน คิดเป็น 55.73%

จำนวนผู้สูงอายุแบ่งตามช่วงอายุ

  • 60-69 ปี จำนวน 7,120,271 คน คิดเป็น 56.07%  แบ่งเป็นชาย 3,258,558 คน และ หญิง 3,861,713 คน
  • 70-79 ปี จำนวน 3,743,466 คน คิดเป็น 29.48%  แบ่งเป็นชาย 1,635,323 คน และ หญิง 2,108,143 คน
  • 80 ปีขึ้นไป จำนวน 1,834,625 คน คิดเป็น 14.45%  แบ่งเป็นชาย 728,193 คน และ หญิง 1,106,432 คน.