“เบี้ยผู้สูงอายุ” เป็นประเด็นร้อนแรง เมื่อ “กระทรวงมหาดไทย” ปรับหลักเกณฑ์จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ พ.ศ. 2566 โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 12 สิงหาคม 2566 หลายคนตั้งคำถามว่า การปรับหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบกับผู้สูงอายุในวันนี้และในอนาคตอย่างไร “ฐานเศรษฐกิจ” พูดคุยกับ “ดร.นณริฏ พิศลยบุตร” นักวิชาการอาวุโสสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เพื่อประเมินความเป็นไปได้และทางออกสำหรับประเด็นนี้
ปรับ "เบี้ยผู้สูงอายุ" ทุกคนควรได้สิทธิพื้นฐาน ที่เป็นรัฐสวัสดิการอย่างเท่าเทียม ?
ดร.นณริฏ อธิบายว่า โดยทั่วไปเมื่อให้สิทธิสวัสดิการขั้นพื้นฐาน ไม่มีถูกและผิด เพราะมีทางเลือก และเป็นทางเลือกที่สังคมต้องช่วยกันเลือกว่า ต้องการจะจัดสรรสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุแบบไหน เนื่องจากในแต่ละประเทศมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจต่างกัน ซึ่งทำให้ความสามารถในการจัดสรรสวัสดิการทำได้ไม่เท่ากันตามไปด้วย
หากพื้นฐานทางเศรษฐกิจดี ก็สามารถเลือกจัดสรรสวัสดิการที่สูงมากได้ ในขณะที่หากพื้นฐานทางเศรษฐกิจไม่ดีก็อาจจะไม่สามารถจัดสรรสวัสดิการได้มากเท่ากับประเทศที่พื้นฐานดี ประเทศที่ทำขัดกับธรรมชาติ เช่น พื้นฐานทางเศรษฐกิจไม่ดีแต่เลือกที่จะจัดสรรสวัสดิการมาก ก็อาจจะประสบกับวิกฤติทางเศรษฐกิจได้ หรือ พื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดีแต่ไม่จัดสรรสวัสดิการก็จะทำให้ประชาชนเกิดความทุกข์
“สังคมต้องช่วยกันเลือกว่าเราอยากที่จะเดินหน้าประเทศไปแบบไหน ประเทศในโลกจะมีทั้งประเทศที่เลือกสิทธิและสวัสดิการมากและน้อยต่างกันออกไปเพราะมีปัจจัยที่แตกต่างกัน”
2 ทางเลือก “เบี้ยผู้สูงอายุ” ถ้วนหน้า หรือ เจาะจง
ประเด็นเบี้ยผู้สูงอายุมีรูปแบบ 2 แนวทางใหญ่ ที่สามารถทำได้ แบบแรกคือ “แบบถ้วนหน้า” หมายถึงให้ทุกคน ไม่ต้องสนใจว่าจะมีความยากลำบากอย่างไร ใครสูงอายุได้หมด กับแบบที่สองคือ “แบบเฉพาะเจาะจง” (targeting) หมายถึงช่วยเฉพาะคนที่มีคุณสมบัติบางอย่างที่คิดว่าควรจะช่วยเหลือ แน่นอนว่าต้องไปดูคุณสมบัติอย่างไรจึงจะควรช่วยเหลือ ซึ่งทั้ง 2แนวทาง มีทั้งข้อดีและข้อเสีย และจะเป็นความท้าทายที่เมื่อไหร่ก็ตามหากเลือกเส้นทางใดเส้นทางหนึ่งก็ต้องอยู่กับความท้าทายนั้นให้ได้
หากเลือกแบบสวัสดิการถ้วนหน้าจะมีข้อด้อย คือ “ใช้งบประมาณสูง” กว่าแบบเฉพาะเจาะจง (targeting) แต่แบบเฉพาะเจาะจงก็มีข้อด้อยคือ “คนที่ควรได้รับสิทธิอาจเข้าไม่ถึงสิทธิ ในขณะที่คนที่ไม่ควรได้สิทธิบางคนก็กลับได้รับสิทธิ” เช่นในกรณีของ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ที่พบว่าคนจนจริงๆ ไม่ได้บัตรในรอบแรกกว่า 2 ล้านคน ในขณะที่แจกบัตรไป 12 ล้านใบ ทั้งที่คนจนตามนิยามของสภาพัฒน์ฯ มีแค่ 4-5 ล้านคนเท่านั้น
“บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีการกำหนดเกณฑ์รับสิทธิ คืออ้างอิงจากข้อมูลของสภาพัฒน์ฯ เราพบข้อมูลน่าสนใจ คือ คนจนเข้าไม่ถึง มีเยอะเฉลี่ย 50% หรือประมาณเกือบ 2 ล้านคนในรอบแรก ซ้ำร้ายเวลาพูดถึงคนจนในประเทศที่มี 4-5 ล้านคนเท่านั้น แต่เราแจกไป 12 ล้านใบ แปลว่ามีคนที่ไม่ได้จนจริงแต่อยากได้ รัฐไม่สามารถสกรีนคนได้ เวลาเราทำทาร์เกตติ้งจะเกิดปัญหานี้เช่นเดียวกันถ้าปรับมาใช้กับผู้สูงอายุ”
หากพิจารณาในปัจจุบัน ส่วนตัวมองว่า เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้าที่ใช้ในปัจจุบัน ใช้งบประมาณไม่มาก น่าจะประมาณไม่ถึงแสนล้านบาท และแม้ว่าอนาคตจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็น 20 ล้านคน (จาก 12 ล้านคนในปัจจุบัน) ก็ทำให้งบประมาณใช้อย่างมากก็ 2.5 แสนล้านบาท ถือว่าอยู่ในวิสัยที่การคลังจะรับได้
และหากพิจารณาแนวโน้มของนโยบายจะพบว่ามีหลายพรรคที่ต้องการจะเพิ่มเป็น 3,000 บาทต่อเดือนแบบถ้วนหน้า จะทำให้งบประมาณเพิ่มเป็น 4.3 แสนล้านบาทในปัจจุบัน และอาจจะเพิ่มเป็น 7.2 แสนล้านบาทต่อปีใน 10 ปีข้างหน้า สิ่งนี้อาจจะกระทบกับสถานะทางการคลังได้
“นโยบายในเชิงหาเสียง ตัวเลขที่มีนัยสำคัญ เพิ่ม 3 เท่าจาก 1 พัน เอาแค่ประชากรผู้สูงอายุ 12 ล้านคนในกรณีแบบถ้วนหน้า ต้องใช้เงิน 4 แสนกว่าล้านบาท แต่ถ้าผ่านไป 10 ปี จำนวนเพิ่มจะกระโดดไปเป็น 7 แสนกว่าล้าน เราเริ่มเห็นการเพิ่มขึ้นและความสุ่มเสี่ยงทางด้านการคลังมากขึ้น ถ้าเลือกให้แบบเฉพาะเจาะจงเงินจะหายไปครึ่งต่อครึ่ง เป็นเงินที่เอามาใช้อะไรให้มาก”
พิสูจน์ความจน สะท้อนแนวคิดของรัฐที่มองว่า เป็นการสงเคราะห์ ไม่ใช่ "สิทธิ"
“การจะดีเบตว่าเป็นการช่วยเหลือที่เหมาะสมหรือไม่ สงเคราะห์หรือสิทธิสวัสดิการ มองว่าเป็นเรื่องของอุดมการณ์ ทั้งสองทางเลือกเป็นไปได้ เราอยากจะให้ประเทศเดินไปแบบไหนถ้วนหน้าหรือสงเคราะห์ก็ได้ แต่ในทางเศรษฐศาสตร์ไม่มีอะไรฟรี ไม่ใช่ว่ารัฐบอกจะเพิ่มเงินแล้วพิมพ์เงินแจกโดยที่คนอื่นไม่ได้รับผล กระทบ มันมีราคาที่ต้องจ่าย ทุกเงินที่จ่ายออกไปก็ต้องเป็นเงินที่มาจากภาษีส่วนใดส่วนหนึ่ง ในทางเศรษฐศาสตร์มีภาษีในมุมนี้เรียกว่า ภาษีเพื่อลดความหลื่อมล้ำ ที่ช่วยได้ในระดับหนึ่ง สิ่งนี้ในทางวิชาการมองว่า ถ้าช่วยแบบถ้วนหน้าให้ผู้สูงอายุทุกคนยังอยู่ในวิสัยถ้าใช้งบประมาณไม่มากนัก หากงบประมาณสูงเกินไปต้องดูว่าภาครัฐจะหารายได้มาได้มากแค่ไหน ถ้าหารายได้มาไม่พอคงต้องใช้แนวทางแบบสงเคราะห์แทน"