วันที่ 4 กันยายน ของทุกปี กองทัพเรือ ได้ถือเอาวันนี้เป็น วันที่ระลึกเรือดำน้ำ หรือ วันเรือดำน้ำไทย สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2480 เรือดำน้ำ 2 ลำแรก จากจำนวนทั้งหมด 4 ลำ ที่กองทัพเรือได้สั่งต่อ จากบริษัท มิตซูบิชิ แห่งเมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น คือ “เรือหลวงมัจฉาณุ” และ “เรือหลวงวิรุณ” ได้สร้างแล้วเสร็จ ทางบริษัทพร้อมที่จะส่งมอบให้แก่ราชนาวีไทย จึงได้ทำพิธีส่งมอบเรือดำน้ำทั้ง 2 ลำให้แก่กองทัพเรือในวันดังกล่าว(ที่ประเทศญี่ปุ่น) นับว่าเป็นวันสำคัญยิ่งอีกวันหนึ่งในประวัติศาสตร์กองทัพเรือ
ต่อมาวันที่ 25 พฤษภาคม 2481 บริษัท มิตซูบิชิฯ สร้างเรือดำน้ำอีก 2 ลำ คือ เรือหลวงสินสมุทร และเรือหลวงพลายชุมพล เสร็จสมบูรณ์ ก็ได้มีการส่งมอบในเวลาต่อมา เรือดำน้ำชุดแรกทั้ง 4 ลำนี้ ได้รับใช้ราชการในกองทัพเรือเป็นเวลาราว 12 ปีเศษ
แม้ว่าในปัจจุบัน กองทัพเรือจะปลดระวางประจำการเรือดำน้ำชุดนี้ไปแล้วก็ตาม แต่ในอดีตนั้น เรือดำน้ำเหล่านี้ได้เป็นเขี้ยวเล็บที่เสริมสร้างนาวิกานุภาพของไทยให้เข้มแข็ง จนเป็นที่กล่าวขานและได้รับใช้ชาติอย่างสมบูรณ์ ในกรณีพิพาทกับฝรั่งเศสและในสงครามมหาเอเชียบูรพา จนกระทั่งสงครามสงบลง เรือดำน้ำทั้งหมดได้ปลดระวางประจำการไปเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 เรื่องเรือดำน้ำจึงได้กลายเป็น "อดีต" เหลือเพียงแต่เรื่องราวที่อยู่ในความทรงจำของ "นักดำเรือดำน้ำ" ในยุคนั้นอีกเพียงไม่กี่คนเท่านั้น
กองทัพเรือ ได้จัดงานวันเรือดำน้ำขึ้นเป็นประจำทุกปีในวันที่ 4 กันยายน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สมาชิก อดีตทหารเรือ ที่เคยเป็นนักดำเรือดำน้ำ กลุ่มชมรมเรือดำน้ำ และนายทหารประจำการที่เคยศึกษาวิชาเรือดำน้ำยุคใหม่ ได้พบปะสังสรรค์ แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน รวมทั้งได้ร่วมทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับนักดำเรือดำน้ำไทยในอดีตที่ล่วงลับไปแล้ว
ย้อนความเป็นมา กว่าจะได้เรือดำน้ำ 4 ลำแรกมาใช้
ไทยมีแนวคิดที่จะมี เรือดำน้ำ ซึ่งเรียกว่า เรือ ส. ย่อมาจาก เรือสับมารีน (จากภาษาอังกฤษ submarine) ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2453 ซึ่งเป็นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.6) มีโครงการจัดสร้างกำลังทางเรือ ซึ่งทางคณะกรรมการโครงการฯ ทำแผนเสนอเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ คือ สมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวง นครสวรรค์วรพินิต (จอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า บริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต) เพื่อทรงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ปรึกษาโครงการเป็นนายทหารเรือชาวต่างชาติเสนอไว้ในโครงการให้มีเรือดำน้ำ 8 ลำประจำการ แต่เนื่องจากในยุคสมัยนั้นเศรษฐกิจของไทย (ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่1) ยังไม่เอื้ออำนวยให้กองทัพจัดซื้อเรือดำน้ำ กระนั้น พระเจ้าอยู่หัว (ร.6) ซึ่งทรงสนพระทัยในเรือดำน้ำ ได้ทรงติดต่อกับกองทัพเรืออังกฤษ ขออนุญาต ให้นายทหารเรือไทยได้เข้าศึกษาการใช้เรือดำน้ำในกองทัพเรืออังกฤษได้สำเร็จ และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้นาวาตรีหลวงหาญสมุทร (พลเรือตรี พระยาหาญกลางสมุทร) เข้าศึกษาจนสำเร็จเป็นคนแรกของประเทศไทย
อีกบุคคลที่สำคัญในประวัติศาสตร์เรือดำน้ำของไทย คือ สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ (จอมพลเรือสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก ซึ่งคือพระราชบิดาของในหลวงรัชกาลที่9) ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการทหารเรือจากประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศ ที่มีชื่อเสียงมากในเรื่องเรือดำน้ำ และได้เป็นนายทหารฝึกหัดอยู่ในราชนาวีเยอรมัน ต่อมาหลังเสด็จกลับประเทศไทย ทรงเข้ารับราชการในกระทรวงทหารเรือเมื่อ 2 เมษายน พ.ศ.2459 ทรงเป็นนายทหารเรือไทยผู้เดียวในเวลานั้นที่มีความรู้เกี่ยวกับเรือดำน้ำ และทรงสนพระทัยในเรือดำน้ำเป็นพิเศษ (ทรงเคยได้รับรางวัลที่ 1 ในการออกแบบเรือดำน้ำในระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่ในกองทัพเรือเยอรมันด้วย) และทรงเอาพระทัยใส่ติดตามวิวัฒนาการของเรือดำน้ำเยอรมันตลอดมา ขณะดำรงพระยศเรือโทกรมขุนสงขลานครินทร์ พระองค์ได้ทรงถวายรายงานต่อเสนาธิการทหารเรือขณะนั้นคือพลเรือโท กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ซึ่งเป็นรายงานเกี่ยวกับเรื่องเรือดำน้ำมีความหนาถึง 94 หน้า ซึ่ง ณ เวลานั้น กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ก็ทรงเห็นด้วยเกี่ยวกับการที่จะมีเรือดำน้ำมาสร้างความแข็งแกร่งให้กับทัพเรือไทย
อย่างไรก็ตาม ความคิดที่จะมีเรือดำน้ำในกองทัพเรือได้กลายเป็นความจริงขึ้น หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้ว คือในช่วงปลายปี พ.ศ.2478 สภาผู้แทนราษฎรได้อนุมัติพระราชบัญญัติบำรุงกำลังทางเรือ พ.ศ.2478 ให้กองทัพเรือจัดการบำรุงกำลังทางเรือให้เสร็จภายในเวลา 6 ปี ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 18 ล้านบาท กำหนดความต้องการเรือดำน้ำไว้ 6 ลำประมาณราคาไว้ลำละ 2.3 ล้านบาท มีการเรียกประกวดราคาสร้างเรือดำน้ำในเดือนตุลาคม พ.ศ.2478 มีตัวแทนบริษัทต่างชาติเข้าเสนอรวม 6 ประเทศ บริษัทมิตซูบิชิฯ ของญี่ปุ่นเสนอราคาต่ำที่สุด คือเรือดำน้ำขนาด 370 ตันมีปืนใหญ่ และลูกปืนมีท่อตอร์ปิโดไม่มีลูกตอร์ปิโด สร้าง 3 ลำ ราคาลำละ 826,452 บาท ถ้าสร้าง 4 ลำ ราคาลำละ 820,000บาท กองทัพเรือได้ตกลงใจสร้าง 4 ลำที่ญี่ปุ่นและได้ส่งนายทหารสัญญาบัตรและประทวนไปศึกษาการใช้เรือดำน้ำที่นั่นด้วย โดยต้องไปเรียนภาษาญี่ปุ่นก่อนชั่วระยะเวลาหนึ่ง
กองทัพเรือได้ลงนามเซ็นสัญญากับบริษัทมิตซูบิชิฯแห่งเมืองโกเบ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ.2478 สร้างเรือดำน้ำจำนวน 4 ลำ โดยเรือดำน้ำที่ทางกองทัพเรือไทยได้มีเป็นครั้งแรกเป็นเรือดำน้ำขนาดเล็ก มีระวางขับน้ำเพียงลำละ 370 ตันเศษเท่านั้น แต่ก็มีประสิทธิภาพสูง หากเปรียบเทียบกับขนาดของเรือดำน้ำโดยทั่วไปแล้ว เรือดำน้ำขนาดนี้ ก็เป็นเพียงเรือดำน้ำชนิดรักษาชายฝั่งทะเลเท่านั้น เรือดำน้ำทั้ง 4 ลำนี้ ได้รับพระราชทานชื่อภายหลังว่า
สองลำแรกนั้น ใช้เวลาในการสร้าง 7 เดือน 18 วัน และเมื่อทั้ง 4 ลำสร้างแล้วเสร็จ วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ.2481 เรือดำน้ำแห่งราชนาวีไทยได้ถอนสมอ เคลื่อนที่ออกจากน่านน้ำแห่งประเทศญี่ปุ่นสู่ประเทศไทยพร้อมกันทั้ง 4 ลำ โดยไม่มีเรือพี่เลี้ยง ซึ่งยังความประหลาดใจแก่ญี่ปุ่นและชาวอเมริกันที่ได้พบปะกันที่ฟิลิปปินส์ ขณะแวะพักที่นั่นเป็นอันมาก เพราะเรือดำน้ำขนาดเล็กเช่นนี้ ต่างประเทศย่อมมีพี่เลี้ยงทั้งสิ้น แต่นี่ก็เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงสมรรถภาพและความสามารถของลูกนาวีไทย ระหว่างทาง มีการแวะพักที่เมืองคีลุง เกาะฟอร์โมซา และเมืองมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ รวมสองแห่งเท่านั้น เพื่อเพิ่มเติมเสบียงอาหารและเชื้อเพลิง และในที่สุด เรือดำน้ำทั้ง 4 ลำก็ถึงกรุงเทพฯเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2481 รวมระยะทางทั้งสิ้น กว่า 3,000 ไมล์ ซึ่งได้รับการต้อนรับจากประชาชนและทางราชการ อย่างอุ่นหนาฝาคั่ง
เรือดำน้ำเหล่านี้ได้รับใช้ชาติอย่างสมบูรณ์ในกรณีพิพาทกับฝรั่งเศสและในสงครามมหาเอเชียบูรพา จนตลอดสงครามสงบ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เรือดำน้ำทั้งสี่เริ่มชำรุดทรุดโทรมไปตามอายุขัยขาดแคลนชิ้นส่วนที่จะใช้ในการซ่อม การสั่งซื้อจากผู้สร้างไม่อาจทำได้เพราะญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงครามและถูกยึดครอง กองทัพเรือได้พยายามหาทางที่จะซ่อมแซมเรือเหล่านี้ให้ใช้การได้อยู่หลายปีก็ไม่บรรลุผลสำเร็จ
เดือนกรกฎาคม 2494 กระทรวงกลาโหมมีคำสั่งให้ยุบเลิกหมวดเรือดำน้ำแล้วโอนไปรวมในหมวดเรือตรวจฝั่งที่ตั้งขึ้นใหม่ และต่อมาในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2494 เรือดำน้ำทั้งหมดได้ปลดระวางประจำการไป ต่อมาได้มีการขายเรือดังกล่าวให้กับบริษัทปูนซีเมนต์ คงเหลือแต่หอเรือดำน้ำและอาวุธบางชิ้นเช่นปืนและกล้องส่อง ทางกองทัพเรือจึงได้สร้างสะพานเดินเรือจำลองขึ้นและนำอาวุธมาติดตั้งไว้เป็นอนุสรณ์ จัดแสดงไว้ที่หน้าพิพิธภัณฑ์ทหารเรือ หน้าโรงเรียนนายเรือ จังหวัดสมุทรปราการ
สานฝันเรือดำน้ำไทยยุคปัจจุบัน
ปัจจุบัน แนวความคิดในการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทยยังคงมีมาอย่างต่อเนื่อง โดยกองทัพเรือได้กำหนดความต้องการเรือดำน้ำไว้ในยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือตลอดมา ทั้งนี้ ในยุครัฐบาล คสช. ได้มีการอนุมัติให้จัดซื้อเรือดำน้ำลำแรกสำหรับกองทัพเรือยุคใหม่ เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2560 ด้วยงบประมาณ 13,500 ล้านบาท และต่อมาได้มีการลงนามกับบริษัท China Shipbuilding & Offshore International Co., Ltd. หรือ CSOC ในฐานะผู้แทนรัฐบาลจีน ทำข้อตกลงจ้างสร้างเรือดำน้ำลำที่ 1 ในข้อตกลงจ้างสร้างเรือดำน้ำเป็นเรือดำน้ำชั้น Yuan Class รุ่น S26T ในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2560 ประเดิมชำระงวดแรกปี 2560 จำนวน 700 ล้านบาท ส่วนปี 2561-2566 จะชำระเฉลี่ยปีละ 2,100 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าจีนจะจัดส่งเรือดำน้ำให้ไทยลำแรกได้ในปี 2567-2568
ส่วนเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 มูลค่ารวม 22,500 ล้านบาท กองทัพเรือได้ตั้งงบประมาณผูกพัน (งบผูกพัน 7 ปี ปีละประมาณ 3,000 ล้านบาท) ไว้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 แต่ได้โยกงบคืนให้รัฐบาลเพื่อช่วยแก้ปัญหาโควิด-19 ตามคำขอของรัฐบาล ต่อมาในปีงบประมาณ 2564 มีการเสนองบผูกพันซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ กลับไปอีกครั้ง แต่ถูกกระแสสังคมวิจารณ์อย่างหนักถึงลำดับความสำคัญของการใช้เงินในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ส่งผลให้รัฐบาลต้องเจรจากับรัฐบาลจีนเพื่อขอเลื่อนการจ่ายงวดแรกออกไป
สำหรับประเด็นเครื่องยนต์เรือดำน้ำที่บริษัทจีนไม่สามารถจัดหาเครื่องยนต์ทดแทนเครื่องยนต์ MTU 396 ของเยอรมนีได้ตามสเปคที่ระบุในสัญญา และได้เสนอเครื่องยนต์ CHD 620 ที่จีนพัฒนาและผลิตเองให้กองทัพเรือไทยแทน เพื่อใช้สำหรับเรือดำน้ำลำแรก (จากจำนวน 3 ลำ) ที่ไทยสั่งซื้อจากจีนนั้น ล่าสุด 1 ก.ย.ที่ผ่านมา มีรายงานข่าว พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ที่กำลังจะเกษียณอายุราชการในปลายเดือนกันยายนนี้ ได้ลงนามเห็นชอบเครื่องยนต์ CHD 620 ที่ผลิตจากบริษัทของจีนเพื่อติดตั้งในเรือดำน้ำ S26T เรียบร้อยแล้วหลังจากคณะทำงานในการเจรจาเรื่องดังกล่าวได้พูดคุยกับบริษัท CSOC หลายรอบ นับเป็นการยุติข้อถกเถียงเกี่ยวกับสเปกเรือดำน้ำจีนที่ไทยสั่งซื้อว่าจะใช้เครื่องยนต์สัญชาติใด
ล่าสุด นายกรัฐมนตรีคนใหม่ นายเศรษฐา ทวีสิน เปิดเผยวานนี้ (3 ก.ย.) หลังพบหารือกับผู้บัญชาการเหล่าทัพร่วมกับนายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่าเน้นเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของผู้บัญชาการเหล่าทัพ ยังไม่ได้พูดคุยกันถึงเรื่องงบประมาณกองทัพ รวมทั้งเรื่องงบจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือที่รัฐบาลชุดก่อนชะลอไว้ ก็ยังไม่ได้มีการพูดคุยกับกองทัพเรือเช่นกัน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก เพจกองทัพเรือ Royal Thai Navy / วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี/ นาวิกาธิปัตย์สาร ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ทหารเรือ/ กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ