"เทศกาลกินเจ 2566" เริ่ม 15-23 ต.ค.66 เช็คอาหารกินได้-ห้ามกิน

03 ต.ค. 2566 | 02:02 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ต.ค. 2566 | 02:02 น.

"เทศกาลกินเจ 2566" เริ่ม 15-23 ต.ค.66 เช็คอาหารกินได้-ห้ามกิน ข้อควรปฏิบัติ ฐานเศรษฐกิจรวบรวมข้อมูลทั้งหมดไว้ให้แล้ว ทั้งประวัติความเป็นมา ความหมายของคำว่าเจ เหตุผลที่ต้องกินล้างท้อง

"เทศกาลกินเจ 2566" เริ่มวันที่ 15-23 ตุลาคม 2566 โดยเทศกาล "กินเจ" ของทุกปี จะกำหนดตามปฏิทินจันทรคติจีน ซึ่งตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 และไปสิ้นสุดในวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 รวมเป็นเวลาทั้งหมด 9 วัน 9 คืน

ทั้งนี้ ผู้ที่ถือศีลกินเจบางรายจะนิยม "กินล้างท้อง" ก็คือการเริ่มกินเจล่วงหน้าก่อนกำหนดจริง 1 วัน เพื่อทำให้ร่างกายปรับสภาพให้คุ้นเคย โดยผู้ที่ต้องการจะกินล้างท้องสามารถเริ่มกินเจได้ตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2566 ซึ่งจะทำให้เทศกาลกินเจ 2566 ของหลายคนมีกำหนดรวมทั้งหมด 10 วัน

เทศกาลกินเจ (Vegetarian Festival) มีข้อควรปฏิบัติอย่างไร อาหารอะไรที่กินได้ และอะไรที่กินไม่ได้ในช่วง "กินเจ" ฐานเศรษฐกิจจะพาไปพบคำตอบ

ความหมายคำว่า "เจ"

“เจ” ในภาษาจีนทางพระพุทธศาสนา หมายถึง “อุโบสถ หรือการรักษาศีล 8” ของศาสนาพุทธนิกายมหายาน ที่จะมีการรักษาอุโบสถศีล ไม่บริโภคอะไรหลังเที่ยงวันตามหลักศีล 8 ข้อ และไม่บริโภคเนื้อสัตว์ เพื่อเป็นการไม่เบียดเบียนสิ่งมีชีวิต ช่วงหลังจึงเรียกผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์ว่า “กินเจ” ไปด้วย 

อย่างไรก็ดี การกินเจไม่ใช่เพียงแต่งดเนื้อสัตว์ อาหาร และเครื่องปรุงที่มีส่วนประกอบของเนื้อสัตว์ แต่ยังรวมถึงการรักษาศีล ประพฤติตัวเป็นคนดีทั้งกาย วาจา ใจ ด้วย

ประวัติเทศกาลกินเจ

เทศกาลเจ เริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 400 ปีมาแล้ว โดยตามตำนานเล่าว่า เกิดมาในสมัยที่ชาวจีนถูกรุกรานโดยชนชาติแมนจู ซึ่งเข้าปกครองประเทศจีน และบังคับให้ชนชาติจีนยอมรับวัฒนธรรมของตน อาทิ การไว้ทรงผมเยี่ยงแมนจู คือ โกนศีรษะโล้นทางด้านหน้าและไว้ผมยาวทางด้านหลัง ซึ่งเชื่อว่าหลายท่านคงจะชินตาในภาพยนตร์จีนที่นำมาฉายทางทีวี

ในสมัยนั้นมีคนจีนกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันต่อต้านชาวแมนจู โดยใช้หลักทางธรรมเข้ามาร่วมด้วย ชาวจีนกลุ่มนี้ นุ่งขาว ห่มขาวและไม่รับประทานเนื้อสัตว์ ซึ่งมีความเชื่อว่า การประพฤติปฏิบัติตามแนวทางนี้จะช่วยสร้างความเข้มแข็ง ให้กับกลุ่มของตนจนสามารถต้านทานชาวแมนจูได้ คนกลุ่มนี้เรียกตัวเองว่า "หงี่หั่วท้วง" ซึ่งแม้จะได้ต่อสู้อย่างอาจหาญ แต่ท้ายที่สุดก็ไม่สามารถต้านทานการรุกรานของชาวแมนจูได้

เมื่อถึงวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 ชาวจีนที่ยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของชาวแมนจู จึงพากันถือศีลกินเจ เพื่อรำลึกถึงเหล่านักสู้ "หงี่หั่วท้วง" ที่ได้ต่อสู้พลีชีพในครั้งนั้น

อย่างไรก็ตาม มีความเชื่ออีกกระแสหนึ่งของตำนานการกินเจนั้น เชื่อกันว่าเป็นการสักการะพระพุทธเจ้าในอดีต 7 พระองค์ และพระมหาโพธิสัตว์อีก 2 พระองค์ รวมเป็น 9 พระองค์ หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า ดาวนพเคราะห์ทั้ง 9 ในพิธีกรรมนี้ สาธุชนจึงงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ตัดชีวิต หันมาบำเพ็ญศีล โดยการตั้งปณิธานในการกินเจ งดเว้นอาหารคาว เพื่อเป็นการสมาทานศีล

สำหรับประเทศไทยความเชื่อเรื่องการกินเจ เป็นไปในแนวทางของการละเว้นการเอาชีวิตของสัตว์ เพื่อเป็นสักการะบูชาแก่ พระพุทธเจ้า และมหาโพธิสัตว์กวนอิม อาจเนื่องจากการแพร่หลายของการละเว้นการกินเนื้อวัว ในกลุ่มคนที่นับถือ "เจ้าแม่กวนอิม" การกินเจ จึงเป็นอีกหนึ่งพิธีกรรมเพื่อสักการะ

อาหารที่ห้ามกิน

  • งดเว้นเนื้อสัตว์, นม, เนย และน้ำมันที่มาจากสัตว์ทุกชนิด
  • งดผักที่มีกลิ่นแรง 5 ชนิด (กระเทียม ,หัวหอม ,กุยช่าย ,กระเทียมโทนจีน ,ใบยาสูบ)
  • งดอาหารรสจัด และไม่ใช้ภาชนะปะปนกันกับคนที่ไม่กินเจ
  • งดกินไข่ไก่ เพราะไข่เป็นผลผลิตที่กำเนิดจากสิ่งมีชีวิต
  • งดดื่มสุราและของมึนเมาตลอดการถือศีลกินเจ

อาหารที่กินได้ 

  • คาร์โบไฮเดรตที่ทำจากพืช
  • โปรตีนเกษตร (โปรตีนจากพืช)
  • ไขมันเกษตร (ไขมันจากพืช)
  • เครื่องปรุงรสเจ
  • ผักและผลไม้

การปฏิบัติตัวช่วงเทศกาลกินเจ 

  • งดเว้นจากการกินเนื้อสัตว์
  • ทำจิตใจให้สงบ
  • สำรวมกาย วาจา และใจ
  • ไม่พูดจาหยาบคาย
  • ถือศีลห้า นุ่งขาวห่มขาว
  • มีความเมตตาต่อสัตว์ทั้งปวง
  • จุดตะเกียงในศาลเจ้าและโรงเจให้สว่างไสวตลอดทั้ง 9 วัน 9 คืน