สธ. เคาะแนวทางรักษา"ไข้หวัดใหญ่"ใช้ "ฟาวิพิราเวียร์" ในอาการไม่รุนแรง

03 ต.ค. 2566 | 05:10 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ต.ค. 2566 | 05:11 น.

สาธารณสุข เผยแพร่แนวทางการรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขฯ กำหนดให้ใช้ "โอเซลทามิเวียร์" เป็นยาหลัก "ฟาวิพิราเวียร์" เป็นยารอง กรณีไม่สามารถใช้ยาหลักเฉพาะผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงเท่านั้น

3 ตุลาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์กรมการแพทย์ ได้เผยแพร่คำแนะนำการรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข (ไกด์ไลน์) ฉบับปรับปรุงวันที่ 2 ต.ค. 2566 ระบุว่า ผู้ป่วยที่มีไข้มากกว่า 38 องศาเซลเซียส ร่วมกับไอและหรือเจ็บคอ (อาจมีอาการอื่น ๆ เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล ปวดเมื่อย อาเจียน ท้องเสีย) แบ่งเป็น

1.ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เช่น สงสัยปอดอักเสบจากอาการหรือ CXR, ออกซิเจนในเลือด SpO2 at Room Air น้อยกว่า 95% ที่ต้องใช้ออกซิเจน, ซึมผิดปกติหรือมีอาการทางระบบประสาท, กินได้น้อยจนมีภาวะขาดน้ำ, มีภาวะแทรกซ้อนหรือมีอาการรุนแรงอื่น ๆ และมีข้อบ่งชี้ในการนอน รพ.

กลุ่มนี้แนะนำให้ยาต้านไวรัส เริ่มยาเร็วที่สุด พิจารณาให้ยาต้านแบคทีเรีย ถ้าสงสัยมีปอดอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย ให้การรักษาตามอาการและอื่น ๆ ตามข้อบ่งชี้

สธ. เคาะแนวทางรักษา\"ไข้หวัดใหญ่\"ใช้ \"ฟาวิพิราเวียร์\" ในอาการไม่รุนแรง

2.ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง 

2.1 ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงต่อโรครุนแรง

-โรคอ้วน (BMI > 30 mg/kg2)

-หญิงตั้งครรภ์หรือหลังคลอดไม่เกิน 14 วัน

-อายุน้อยกว่า 2 ปี หรือ อายุมากกว่า 60 ปี

-มีภาวะร่วม ดังต่อไปนี้

-มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคหอบหืด โรคปอดเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคตับ โรคไต เบาหวาน มะเร็ง เป็นต้น

-โรคที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำหรือต้องใช้ยากดภูมิ

-อายุน้อยกว่า18 ปี ที่กำลังกินแอสไพริน (อาจเกิด Reye Syndrome)

-กลุ่มโรคทางพันธุกรรมและเด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง เด็กที่มีพัฒนาการช้า รวมทั้งโรคลมชัก

กลุ่มนี้แนะนำให้ยาต้านไวรัสเร็วที่สุด ติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ถ้าไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง หรือมีอาการรุนแรงขึ้น ให้พิจารณารับไวรักษาใน รพ. ให้การรักษาตามอาการและอื่น ๆ ตามข้อบ่งชี้ โดยข้อบ่งชี้ในการรับผู้ป่วยไว้รักษาใน รพ.ขึ้นกับปัจจัยเสี่ยงความรุนแรงของโรค ทั้งนี้ ขึ้นอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์

สธ. เคาะแนวทางรักษา\"ไข้หวัดใหญ่\"ใช้ \"ฟาวิพิราเวียร์\" ในอาการไม่รุนแรง

2.2 ผู้ป่วยที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงต่อโรครุนแรง

ให้รักษาตามอาการ อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัส ถ้ามีอาการมาไม่เกิน 48 ชั่วโมง ไม่ต้องให้ยาต้านแบคทีเรีย เว้นแต่มีข้อบ่งชี้อื่น เช่น อาการกูอักเสบ ไซนัสอักเสบ แนะนำวิธีการดูแลที่บ้านและให้หลีกเลี่ยงการเข้าชุมชน ให้สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างจากผู้อื่น และล้างมือก่อนหลังการสัมผัสบริเวณใบหน้า และเมื่อมีการปนเปื้อนสารคัดหลั่งจากระบบทางเดินหายใจ และแนะนำให้กลับมาตรวจหากไม่ดีขึ้นหลัง 48 ชั่วโมง

สำหรับแนวทางการรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ แบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ 1.การรักษาแบบประคับประคอง และ 2. การรักษาเฉพาะโดยให้ยาต้านไวรัส ซึ่งยาต้านไวรัสอันดับแรก (First-line) คือ โอเซลทามิเวียร์ และยาอันดับรอง (Second-line) คือ ยาฟาวิพิราเวียร์ ใช้ในกรณีที่ไม่สามารถใช้ยาอันดับแรกได้ เฉพาะในกรณีที่เป็นไข้หวัดใหญ่อาการไม่รุนแรงเท่านั้น โดยการให้ยาต้านไวรัสเพื่อรักษาไข้หวัดใหญ่ ผลการรักษาดีที่สุดเมื่อเริ่มยาได้เร็ว ภายใน 48 ชั่วโมงแรก

อย่างไรก็ดี ยังมีประโยชน์ในผู้ที่อาการรุนแรงหรือเสี่ยงสูง แม้จะเลย 48 ชั่วโมงไปแล้ว ให้ยาต้านไวรัสเฉพาะผู้ป่วยดังต่อไปนี้

1.ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ต้องนอน รพ. หรือมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง

2.ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงต่อโรครุนแรง

3.สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง อาจจะพิจารณาให้ยาต้านไวรัสหากมีอาการมาไม่เกิน 48 ชั่วโมง (ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะมีอาการไม่รุนแรงและหายเองได้โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน แต่ยาต้านไวรัสำให้อาการหายเร็วขึ้น)

ทั้งนี้ ในคำแนะนำดังกล่าวได้เน้นย้ำว่า การใช้ยาโอเซลทามิเวียร์ ขนาดสูง 2 เท่าของปกติ พบว่า ไม่มีประสิทธิผลดีไปกว่าขนาดปกติที่แนะนำ โดยขนาดยาโอเซลทามิเวียร์ที่แนะนำ คือ ให้ 5 วัน โดยพิจารณาตามน้ำหนัก/อายุ ดังนี้

เด็กอายุน้อยกว่า 3 เดือน ขนาดยา 12 มก. วันละ 2 ครั้ง

เด็กอายุ 3-5 เดือน ขนาดยา 20 มก.วันละ 2 ครั้ง

เด็กอายุ 6-11 เดือน ขนาดยา 25 มก.วันละ 2 ครั้ง

เด็กอายุมากกว่า 1 ปี หรือน้อยกว่า 15 กก. ขนาดยา 30 มก. วันละ 2 ครั้ง

เด็กน้ำหนักมากกว่า 15-23 กก. ขนาดยา 45 มก.วันละ 2 ครั้ง

เด็กน้ำหนักมากกว่า 23-40 กก. ขนาดยา 60 มก.วันละ 2 ครั้ง

เด็กน้ำหนักมากกว่า 40 กก. ขนาดยา 75 มก.วันละ 2 ครั้ง

ผู้ใหญ่ ขนาดยา 75 มก.วันละ 2 ครั้ง

ส่วนการใช้ยาระยะนานกว่า 5 วัน ให้พิจารณาตามความจำเป็นและเหมาะสมตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้ดูแล ส่วนการใช้ยาเพื่อป้องกัน (Prophylaxis) ย้ำว่า ไม่แนะนำให้ยาต้านไวรัสเพื่อการป้องกันไม่ว่าจะเป็นก่อนการสัมผัส (Pre-Exposure) หรือหลังการสัมผัส (Post-Exposure) สำหรับผู้สัมผัสโรคแนะนำให้สังเกตอาการและรีบเริ่มยาเร็วที่สุดเมื่อมีอาการ

การใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ 200 มก./เม็ด

วันที่ 1 ใช้ขนาด 1,600 มก. (8 เม็ด) วันละ 2 ครั้ง กรณีในเด็กใช้ขนาด 70 มก./กก./วัน วันละ 2 ครั้ง ส่วนวันที่ 2-5 ขนาด 600 มก. (3 เม็ด) วันละ 2 ครั้ง กรณีในเด็ก ใช้ขนาด 30 มก./กก./วัน วันละ 2 ครั้ง ช่วยลดอาการที่ไม่สบายของผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยได้ค่อนข้างดี แบ่งหรือบดเม็ดยาและให้ทาง NG Tube ได้

ข้อควรระวังหรือผลข้างเคียง

มีโอกาสเกิด teratogenic effect (ผลกระทบที่ทำให้ทารกอวัยวะพิการ) จึงไม่ควรให้ในหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร อาจเพิ่มระดับ Uric Acid เมื่อใช้ร่วมกับ Pyrazinamide ระวัง Hypoglycemia เมื่อใช้ร่วมกับ Repaglinide หรือ Pioglitazone ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังไม่ต้องปรับขนาดยา ผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับบกพร่องในระดับปานกลางถึงรุนแรง ให้ปรับขนาดยาเหลือ 800 มก.วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 1 วัน แล้วตามด้วย 400 มก. วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 2 วัน

สธ. เคาะแนวทางรักษา\"ไข้หวัดใหญ่\"ใช้ \"ฟาวิพิราเวียร์\" ในอาการไม่รุนแรง