ปัจจุบันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข โดย นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า การรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ด้วยยาโอเซลทามิเวียร์ และยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ซึ่งยาทั้งสองชนิดสามารถนำมารักษาโรคไข้หวัดใหญ่ได้โดยการประชุมผู้เชี่ยวชาญฝ่ายวิชาการของกรมการแพทย์เมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมานั้นได้มีการพิจารณาถึงแนวทางการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่
นอกเหนือจากโอเซลทามิเวียร์ด้วยยาฟาวิพิราเวียร์โดยจะมีการเสนอเข้าสู่ คณะกรรมการวิชาการของกระทรวงสาธารณสุขก่อนออกเป็นประกาศแนวทางการรักษาอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
นพ.ธงชัย อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แพทย์ทราบอยู่แล้วว่า ยาฟาวิพิราเวียร์สามารถนำมารักษาไข้หวัดใหญ่ได้เพียงแต่ก่อนหน้านี้มีการระบาดของโรคโควิด 19 จึงมีการนำยาดังกล่าวมารักษาทำให้คนเข้าใจว่า คนละโรคแต่จริง ๆ แล้วรักษาได้ โดยโอเซลทามิเวียร์ก็เช่นกัน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ยาโอเซลทามิเวียร์ อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติอยู่แล้วเหลือแต่ ยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งก่อนหน้านี้ยาฟาวิพิราเวียร์ใช้รักษาฟรีเพราะเอามาใช้รักษาโควิด 19 แต่เมื่อโรคโควิดไม่ใช่โรคติดต่ออันตรายแล้วจากนี้ก็จะต้องมีการดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อผลักดันเข้าสู่คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติต่อไป
ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึง สถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ว่า จากข้อมูลกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เผยสถานการณ์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม -16 กันยายน 2566 มีรายงานผู้ป่วย จำนวน 185,216 ราย อัตราป่วย 279.90 ต่อประชากรแสนคน มีรายงานผู้เสียชีวิต 4 ราย ในจังหวัดนครราชสีมา 2 ราย สงขลาและตาก จังหวัดละ 1 ราย อัตราป่วยตาย 0.002
สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A/H1N1 และ A/H3N2 สำหรับสัปดาห์นี้รายงานผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
โดยตัวเลขการระบาดจะใกล้เคียงกับปี 2562 ก่อนจะมีการระบาดของโรคโควิดเพราะไทยเผชิญโควิดตั้งแต่ต้นปี 2563 ช่วงนั้นเรามีมาตรการป้องกันต่าง ๆ ซึ่งการสวมหน้ากากอนามัยทำให้ได้ประโยชน์ในการป้องกันโรคทางเดินหายใจแต่ปัจจุบันสถานการณ์เริ่มผ่อนคลาย ทั่วโลกเดินทางกันมาก
หากพิจารณาตัวเลขการระบาดก่อนโควิดกับปีนี้ ถือว่า การระบาดใกล้เคียงกับปีก่อนโควิด ดังนั้น โรคไข้หวัดใหญ่แม้จะพบมากแต่ไม่ถือว่า รุนแรงเกินจัดการ นพ.โสภณ กล่าว