กราดยิงพารากอน กลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก ถือเป็นบทเรียนที่คนไทยและตำรวจต้องมีการเตรียมความพร้อม เเม้เหตุกราดยิงจะเกิดขึ้นไม่บ่อยนักในประเทศไทย แต่ความรุนแรงและการเป็นเจ้าของปืนถือเป็นเรื่องปกติ กฎหมายการครอบครองมีความเข้มงวด อาวุธปืนก็สามารถดัดแปลงและรับมาอย่างผิดกฎหมายได้
เพื่อถอดรหัส "กราดยิงพารากอน" ครอบคลุมทั้งการอธิบายพฤติกรรมของผู้ก่อเหตุกราดยิงไปถึงการครอบครองอาวุธปืน เเละโครงสร้างการทำงานของตำรวจ "ฐานเศรษฐกิจ" สัมภาษณ์พิเศษ
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดี ประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม ม.รังสิต ฉายภาพเหตุกราดยิงที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ว่า "ผู้ก่อเหตุ" ซึ่งที่ผ่านมาจะพบว่า ผู้ก่อเกิดมักจะผู้ใหญ่ เยาวชนมีบ้าง เเต่การใช้อาวุธปืนมาไล่ยิงคนในห้างสรรพสินค้าถือเป็นเคสเเรกๆ หากพิจารณถึง "เหตุจูงใจ" ของผู้ก่อเหตุ
อ้างอิงข้อมูลเชิงวิชาการด้านอาชญวิทยาจากสหรัฐอเมริกา มีการศึกษาเหตุกราดยิงทั้งหมด 178 คดี ย้อนไปตั้งเเต่ปี ค.ศ.2021 ผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุต่ำกว่า 30 ปี มีปัญหาสภาพจิตใจ ไม่ได้หมายความว่าเป็นโรคจิตเวช เเต่มีปัญหาด้านบุคคลิกภาพ พฤติกรรมต่อต้านสังคม ก้าวร้าว อารมณ์รุนเเรงกว่าคนปกติ ซึ่งก็ต้องให้จิตเเพทย์เป็นผู้ประเมิน บางกรณีพบว่าผู้ก่อเหตุถูกเพื่อนบลูลี่ในโรงเรียนหรือกดดันจากสังคม คนรอบข้าง
ในประเทศไทยต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ สามารถประเมินได้ 2 ลักษณะ คือ ผู้ก่อเหตุมีความผิดปกติทางจิต อาจต้องย้อนดูว่าช่วงที่ก่อเหตุมีการควบคุมตัวเองได้มากน้อยเเค่ไหนซึ่งต้องให้แพทย์เป็นผู้ประเมิน ต่อมาคือ มีปัญหาทางจิตบางส่วนเเต่ไม่ได้เป็นผู้ป่วยจิตเวช แต่ทำเหมือนว่ามีความผิดปกติ
"การใส่ชุดไปห้างสรรพสินค้า เตรียมอาวุธปืน เลือกสถานที่ เลือกช่วงเวลา บ่งบอกถึงมีการเตรียมการ อย่างการเลือกช่วงเวลาที่คนเลิกงาน ซึ่งในห้างมีคนจำนวนมาก การยิงปืนนัดเดียวทำให้เกิดเสียงดังคนจะหันมาสนใจ เเละยิงต่อเนื่องจะทำให้คนเเตกตื่น หลบหนี เท่าที่ทราบต้องมีการตรวจสอบว่าเป็นความจริงหรือไม่ ที่ผู้ก่อเหตุมีการส่งภาพให้เพื่อนดู ถ้าจริงแสดงว่ากำลังสร้างการยอมรับในหมู่เพื่อนหรือไม่ ต้องไปดูการใช้ชีวิตว่าเวลาอยู่กับเพื่อน คนรอบข้าง ครอบครัว ถ้าคุยปกติรู้เรื่องเเสดงว่าอาจไม่ได้มีความผิดปกติทางจิต 100%"
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ ชี้ให้เห็นถึงความน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ คลิปที่ตำรวจเข้าควบคุมสถานการณ์ตามยุทธวิธี โดยสั่งให้วางอาวุธ มอบตัว ซึ่งสามารถทำตามได้เป็นขั้นเป็นตอน เเต่ในทางกลับกันถ้าไม่สามารถควบคุมตัวเองได้สะท้อนให้เห็นว่าผู้ก่อเหตุเข้าใจกระบวนเหล่านี้
"วางอาวุธเเละยอมให้ควบคุมตัว เเต่หลังจากนั้นกลับเเสดงอาการ เช่น หูเเว่ว ประสาทหลอน บอกว่ามีคนจะทำร้าย ในมุมหนึ่งอาจเป็นอาการของคนไข้จิตเวช เเต่อีกมุมหนึ่งผู้ก่อเหตุทราบรายละเอียดหรือไม่ว่าถ้าเเสดงเเบบนี้คืออาการของคนไข้จิตเวช คือมีความฉลาดพอจะอำพรางเพื่อให้เข้าใจว่าตัวเองเป็นคนไข้จิตเวช แต่ก็ขึ้นอยู่กับเเพทย์เป็นผู้ประเมิน"
การประเมินเยาวชนก่อเหตุในมุมอาชญวิทยา
พิจารณาตั้งเเต่การอบรมเลี้ยงดู ได้รับการถ่ายทอดคุณงามความดี ความเอื้อเฟื้อเผื่อเเผ่ สายใยความรักของคนในครอบครัว จะทำให้ละเมิดกฎหมายน้อยลง ในทางกลับกันหากไม่มีเลย เช่น ถูกกระทำด้วยความรุนเเรง คบเพื่อนไม่ดี มีประวัติการใช้ยาเสพติด ดื่มแอลกอฮอล์ หนีเที่ยว หนีเรียน จะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้คนๆหนึ่งละเมิดกฎหมายได้ ดังนั้น ต้องย้อนกลับไปดูว่า ผู้ก่อเหตุกราดยิงพารากอน มีลักษณะทางสังคมอย่างไร
"แต่ผมเชื่อว่า ส่งผลมาจากการอบรมเลี้ยงดูอย่างแน่นอน ไม่มากก็น้อย"
อาชญวิทยา อธิบายการก่อเหตุอาชญกรรมแบบวางแผนเเละไม่วางแผนอย่างไร
การวางแผน คือ ผู้ก่อเหตุต้องเตรียมอาวุธปืน เพราะตามปกติไม่สามารถหาซื้อได้ตามท้องตลาดหรือห้างสรรพสินค้า ยกเว้น ปืนปลอม ปืนของเล่น เเต่กรณีดังกล่าวรายงานระบุว่าเป็น "แบลงค์กัน (Blank Guns)" ซึ่งการดัดแปลงก็ต้องมีการเตรียมการ ดัดแปลงเอง หรือเรียนรู้จากอินเตอร์เน็ต หรือให้ผู้อื่นดัดแปลงให้ เมื่อมีปืนที่ดัดแปลงพร้อมใช้ก็ต้องหากระสุนปืน เเละเชื่อว่าน่าจะมีการฝึกฝนการใช้อาวุธมาก่อนก่อเหตุ ต้องมีการตรวจสอบว่าได้ซ้อมยิงปืนบ่อยครั้งเเค่ไหน
ไม่วางแผน คือ ไปเดินห้างสรรพสินค้า ไม่ได้พกพาอาวุธไป แต่อยู่ๆ หูเเว่ว ประสาทหลอน ไปทำร้ายผู้อื่น มองหาอาวุธที่ขายอยู่ห้างสรรพสินค้ามาไล่แทงผู้คน มีความเป็นไปได้ว่าไม่มีการเตรียมการอะไร ซึ่งอาจเป็นอาการของโรคจิตเวชเกิดขึ้นในขณะนั้น
"ถ้าบอกว่าเป็นโรคจิตเวช ต้องมีผู้ดูแล ผู้ปกครอง คุณพ่อ คุณแม่ ต้องมีตรวจสอบอีกครั้งว่าเกิดอะไรขึ้น เเละต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง แต่ขอให้ความเห็นว่าเราต้องมองทั้งสองมุม ทั้งผู้ก่อเหตุ เหยื่อ เครอบครัวผู้สูญเสีย ต้องมีความสมดุลในสิทธิมนุษยชน สำหรับเด็กซึ่งเป็นผู้ก่อเหตุ ต้องไม่ละเมิด ในขณะเดียวกันสิทธิของเหยื่อเเละครอบครัว การชดเชย เยียวยา สภาพจิตใจด้วย"
ถึงเวลารื้อกฎหมายอาวุธปืน
ส่วนเเรก "ปืนจริง" ที่มีการขอใบอนุญาตโดยถูกกฎหมาย การสั่งนำเข้าจากต่างประเทศ มีขั้นตอนของการดำเนินการ เช่น การขอใช้อาวุธปืนต้องไปขอกับนายทะเบียน คุณสมบัติไม่มีประวัติอาชญากรรม ซึ่งในปัจจุบันมีข้อมูลว่าจะมีการพิจารณาตรวจสุขภาพจิต สอบประวัติจากคนรอบข้าง ตรวจสอบร่องรอยการใช้โซเชียลมีเดีย ส่วนที่สองคือ "ปืนผิดกฎหมาย" รวมทั้งอาวุธปืนดัดแปลงที่มีการลักลอบจำหน่ายทางออนไลน์เเละออฟไลน์ ซึ่งรัฐเข้าไม่ถึง ตรวจสอบยาก เเละกฎหมายต้องมีการแก้ไขโดยเฉพาะปืนที่ดัดแปลง
แก้กฎหมายอาวุธปืนในประเทศไทยที่ใช้กันมานาน
ต้องมานิยามความหมายของอาวุธปืนให้ครอบคลุม "แบลงค์กัน (Blank Guns)" หรืออาวุธปืนที่ผลิตขึ้นมาที่นำมาดัดแปลง เเละต้องกำหนดการขอใบอนุญาต นอกเหนือจากการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม ไม่มีจิตฟั่นเฟือน ต้องตรวจสอบพฤติกรรมการใช้ชีวิต การใช้โชเชียลมีเดีย ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการเพิกถอนใบอนุญาต กรณีมีพฤติกรรมก้าวร้าว แม้ยังไม่ทำความผิด เพื่อป้องกันเฝ้าระวัง ไม่ให้ใช้ความรุนเเรงนำอาวุธปืนไปก่อเหตุทำร้ายผู้อื่นได้
บทลงโทษ "กราดยิง"
การฆ่าคนตายโดยเจตนา โทษสูงสุดคือประหารชีวิต เเต่กรณีที่เกิดขึ้นเนื่องจากผู้ก่อเหตุเป็นเยาวชน ตามกฎหมายถือว่าเป็นความผิดเเต่ไม่ต้องรับโทษ ศาลจะมีมาตรการดูเเลเด็กที่ทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นการเรียก พ่อเเม่มาสอบถาม ให้พนักงานคุมประพฤติ
"เราอาจต้องมาทบทวนกฎหมายฉบับนี้ เพราะจะเห็นว่าเยาวชนทำความผิดในคดีอาชญากรรมที่ร้ายเเรง มากขึ้น หลายกรณีพบว่าผู้ใหญ่ยังไม่ทำ ดังนั้นต้องมีคณะกรรมนำข้อมูลเสนอต่อศาล เยาวชนที่ทำความผิดในลักษณะร้ายแรงต้องมีบทลงโทษที่ต่างจากเด็กเเละเยาวชนที่ทำความผิดแบบทั่วไป"
ต่างประเทศจะนิยามความหมายของเยาวชนแตกต่างกันออกไป บางประเทศอาจจะนิยามอายุของเด็กให้กว้างขึ้นเพื่อให้มีโอกาสได้รับบทลงโทษที่เข้มข้นมากขึ้นหากกระทำผิด
ผู้ก่อเหตุกราดยิงศึกษารูปแบบคดีกราดยิงก่อนหน้า
ผู้ก่อเหตุกราดยิง จะมีการศึกษารูปแบบคดีที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ในต่างประเทศจาการไปตรวจค้นที่พัก หรือข้อมูลการเข้าอินเตอร์เน็ต พบคล้ายกันว่ามีการศึกษารูปแบบ พฤติการณ์คดีในการก่อเหตุ กรณีกราดยิงพารากอน ไม่ว่าจะเป็นลักษณะการเเต่งกาย การเข้ามาก่อเหตุในห้างสรรพสินค้าก็น่าจะมี "พฤติกรรมเลียนแบบ"
การนำเสนอข่าวกราดยิงจะทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ จริงหรือไม่
มองได้ 2 มิติ มิติแรก สังคมต้องการติดตามความคืบหน้าของคดี อยู่ที่ว่าสารที่สื่อนำเสนอลงรายละเอียดมากน้อยเพียงใด มิติที่สอง การนำเสนอที่ไม่ทำให้ผู้ก่อเหตุรู้สึกว่าตนเองมีตัวตนในสังคม ไม่ให้ค่า ไม่มีการเอ่ยชื่อ ไม่เปิดเผยใบหน้า ไม่บอกรูปแบบทางคดีเหมือนเป็นภาพยนต์ ไม่ลงรายละเอียดช่องทางการซื้ออาวุธปืน วิธีการดัดแปลง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดพฤติกรรมการเลียบเเบบได้ การนำเสนอควรเป็นในลักษณะเชิงป้องกัน
"ห้าง"กลายเป็นเป้าหมายที่มีความสะดวกในการก่อเหตุมากขึ้น
ห้างสรรพสินค้าเป็นซอฟทาร์เกจ หรือเป้าหมายที่อ่อนเเอ การดูเเลความปลอดภัยต่างๆ ก็เข้มงวดน้อยลงกว่าสถานที่ราชการ เช่น หน่วยงานตำรวจ ซึ่งวัตถุประสงค์หลักคือ ไปซื้อของ ฟังเพลง ดูภาพยนต์ โอกาสการระมัดระวังตนเองก็น้อย ดังนั้น ผู้ก่อเหตุที่เลือกสถานที่ดังกล่าวจึงมักก่อเหตุสำเร็จ เเต่ประเด็นที่สำคัญของเหตุกราดยิงครั้งนี้ อยู่ใกล้สถานที่ราชการซึ่งก็คือ "สำนักงานตำรวจแห่งชาติ"
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ การเลือกห้างพารากอน แหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม มีชาวต่างชาติจำนวนมาก ข้อสังเกตคือ ผู้ก่อเหตุต้องการเป็นที่สนใจจากสังคม สามารถสะท้อนแนวคิดว่า อยู่ในครอบครัว หมู่เพื่อนได้รับการยอมรับมากน้อยเพียงใด
ปิดช่องโหว่ระบบรักษาความปลอดภัย "ห้างสรรพสินค้า"
ห้างสรรพสินค้าจะมี ระบบ Access Control System อุปกรณ์ควบคุมทางเข้าออกประตู เป็นไปตามแนวคิดป้องกันอาชญากรรมในสภาพเเวดล้อม มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประตูทางเข้า การตรวจเช็คสัมภาระ หรืออุปกรณ์ตรวจจับโลหะ ซึ่งห้างพารากอนยังคงมี เพียงเเต่ว่าต้องมาดูช่องโหว่ที่ทำให้ผู้ก่อเหตุนำอาวุธปืนเข้ามาก่อเหตุได้
"จากประสบการณ์ที่ผมเคยใช้บริการ ซึ่งอยู่ใกล้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็พบกว่าเวลาคนเดินเข้าอุปกรณ์ก็ส่งเสียงแต่ก็ไม่ได้มีการตรวจอะไร ถ้าเจ้าหน้าที่เข้มงวดมากเกินไปก็อาจเกิดเสียงบ่นจากผู้ใช้บริการ ดังนั้นต้องมีความสมดุลระหว่างเรื่องความปลอดภัยสาธารณะกับความเป็นสิทธิส่วนบุคคล"
คำแนะนำจากนักอาชญวิทยา
สถาบันครอบครัวสำคัญที่สุดในการหล่อหลอมให้คนเติบโตมาเป็นคนดี เอาใส่ใจบุตรหลาน เพราะเมื่อเกิดความสูญเสียไม่สามารถย้อนกลับไปได้ การป้องกันโดยเริ่มจากครอบครัวจึงสำคัญมาก
นโยบายของรัฐต้องชัดเจนในเรื่องอาวุธปืน การแก้กฎหมาย ต้องมีการดำเนินการอย่างจริงจัง ไม่มีการยกเว้น
สถานที่ซอฟทาร์เกต ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า สถาบันการศึกษา ย่านชุมชน ต้องมีมาตรการควบคุมการเข้าออก รวมทั้งการมี "ผู้ช่วยตำรวจ"
"ต้องยอมรับว่าตอนนี้ตำรวจไม่พอดูเเลความปลอดภัย ตัวอย่างที่ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่เป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานตำรวจ พกปืนได้ ได้รับการฝึกอบรม เเละเข้มงวดในการตรวจอาวุธในการเข้าออกห้างสรรพสินค้า ในอังกฤษก็มีผู้ช่วยเจ้าพนักงานผู้ช่วยที่ทำงานในระดับชุมชนเพื่อเฝ้าระวังอาชญากรรม เเต่ประเทศไทยไม่มี"
จากการวิจัยพบเหตุผลก็คือ ตำรวจรู้สึกไม่ไว้ใจคนที่มาทำหน้าที่เป็นผู้ช่วย ขณะที่ปัจจุบันระบบงานตำรวจไทยเป็นแบบ traditional model หรือ แบบดั้งเดิม นอกจากนี้ยังมีเรื่องการสูญเสียอำนาจ หากมีการกระจายอำนาจให้หน่วยงานอื่นก็จะทำให้อำนาจลดลง