SMS Emergency Alert ระบบเตือนภัยพลเมืองของทั่วโลก...น่าแปลกใจไทยยังไม่มี

05 ต.ค. 2566 | 09:07 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ต.ค. 2566 | 09:39 น.

SMS Emergency Alert หรือ ระบบเตือนภัยเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ที่หลายประเทศทั่วโลกมีการนำมาใช้นั้น เป้าหมายเพื่อเป็นมาตรการป้องกันภัย-เตือนภัยสำหรับประชาชนผ่านโทรมือถือ สำหรับประเทศไทย หลังเกิดเหตุกราดยิงที่สยามพารากอน หลายเสียงเรียกร้องให้รัฐนำระบบนี้มาใช้บ้าง

 
จากกรณีเด็กชายวัย 14 ก่อเหตุ กราดยิงในสยามพารากอน ห้างดังกลางเมือง ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ควันหลงของเรื่องนี้ทำให้หลายคนพูดถึง "ระบบเตือนภัยเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน" หรือ SMS Emergency Alert ที่หลายประเทศมีการนำมาใช้เพื่อเป็น มาตรการป้องกันภัย-เตือนภัย ให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลสำคัญ เพื่อหลีกเลี่ยงการนำตัวเองเข้าไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยง หรือหากอยู่ในพื้นที่แล้วก็จะสามารถออกมาโดยเร็ว 

ทำความรู้จัก SMS Emergency Alert 

ก่อนอื่นมาทำความรู้จัก SMS Emergency Alert ในภาพรวม นี่คืออีกหนึ่งเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยเสริมความปลอดภัย และแจ้งเหตุ-เตือนภัย ผ่านโทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟน

ยกตัวอย่างกรณีกราดยิงที่ห้างพารากอน ถ้าหากมีระบบ SMS Emergency Alert เพื่อเตือนประชาชนถึงเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในสถานการณ์คับขันหรือเร่งด่วน ก็อาจทำให้ผู้อยู่ในเหตุการณ์หรืออยู่ในรัศมีพื้นที่จุดเกิดเหตุ สามารถขอความช่วยเหลือ หรือรับรู้สถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อตัดสินใจกระทำการใดๆ เพื่อความปลอดภัยของตัวเองได้ทันท่วงที เช่นหากกำลังมุ่งหน้าไปที่ห้าง ก็สามารถเปลี่ยนไปที่อื่น หรือหากมีบุคคลรู้จักอยู่ที่ห้าง ก็สามารถติดต่อกันเพื่อให้ออกมาอย่างไว เป็นต้น 

หลายเสียงเรียกร้องขอระบบแจ้งเตือนภัยในกรณีฉุกเฉินผ่านระบบ SMS

ที่ไหน ใช้ระบบเตือนแบบใด

  • สหรัฐอเมริกา ใช้ระบบ WEA (Wireless Emergency Alerts) แจ้งเตือนภัยผ่านโทรศัพท์มือถือ และระบบ Amber Alert สามารถช่วยเหลือและติดตามเด็กหายได้ภายในเวลา 24 ชั่วโมง
  • แคนาดา ใช้ระบบ Alert Ready สามารถแจ้งเตือนได้ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ไฟไหม้ สภาพอากาศรุนแรง หรือมีผู้ก่อการร้าย ก็สามารถแจ้งเตือนได้ทั้งหมด
  • ทวีปยุโรป(สหภาพยุโรป) ใช้ระบบ EU-Alert เตือนภัยคุกคาม เช่น เหตุการณ์ฉุกเฉิน การโจมตีของผู้ก่อการร้าย สภาพอากาศรุนแรง หรือภัยพิบัติธรรมชาติ
  • ออสเตรเลีย ใช้ระบบ Emergency Alert Australia แจ้งเตือนเป็นข้อความเสียงไปยังโทรศัพท์บ้าน และส่ง SMS ไปยังมือถือที่ใกล้กับพื้นที่เกิดเหตุ
  • ญี่ปุ่น ใช้ระบบ J-Alert เผยแพร่ข้อมูลจากรัฐบาลสู่สาธารณชนได้อย่างรวดเร็ว ผ่านระบบดาวเทียมและอุปกรณ์ที่ติดตั้งไว้ทั่วประเทศ 
  • เกาหลีใต้ ใช้ระบบ Korean Emergency Alerts แจ้งเตือนข้อความฉุกเฉินที่แม้ชาวต่างชาติที่เดินทางไปก็สามารถรับข้อความแจ้งเตือนได้ 
  • ฟิลิปปินส์ ใช้ระบบ ECBS (Emergency Cell Broadcast System) แจ้งเตือนภัยพิบัติผ่านโทรศัพท์มือถือ

หลายประเทศทั่วโลกมีระบบเตือนภัยนี้ใช้นานแล้ว

แล้วไทยกำลังทำอะไรอยู่

สำหรับประเทศไทย กำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา ระบบ Traffy Fondue (ทราฟฟี่ ฟองดูว์) เป็นแอปฯที่พัฒนาโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเตือนภัย

เดิมทีนั้น Traffy Fondue เป็นแพลตฟอร์มที่จัดทำขึ้นสำหรับสื่อสาร "ปัญหาของเมือง" ระหว่างประชาชนและหน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยประชาชนสามารถแจ้งปัญหาที่พบไปให้ผู้ที่รับผิดชอบโดยตรงเพื่อให้แก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วผ่านทางแอปพลิเคชันบนมือถือ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความสะอาด ปัญหาทางเท้า ไฟส่องสว่าง หรือถนนชำรุด โดยเป็นการแจ้งปัญหาในรูปแบบที่มีข้อมูลเพียงพอให้หน่วยงานสามารถดำเนินการได้ทันที เช่น มีภาพถ่าย และตำแหน่งบนแผนที่

ที่ผ่านมาเนคเทค สวทช. ร่วมมือกับสมาคมสันนิตบาตเทศบาล และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น นำแพลตฟอร์ม Traffy Fondue ไปใช้งานในพื้นที่ต่าง ๆ อีกทั้งยังร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยนำ Traffy Fondueไปใช้กับการรับแจ้งการเผาหรือการเกิดไฟป่าใน 50 จังหวัดอีกด้วย

นอกจากนี้ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2563 ซึ่งพบการระบาดในเกือบทุกพื้นที่ ทีมนักวิจัยเนคเทค สวทช. ได้ประยุกต์ใช้ Traffy Fondue ในแพลตฟอร์มไลน์แชตบอท เพื่อให้ประชาชนใช้ในการรายงานข้อมูลบุคคลเดินทางจากพื้นที่เสี่ยงการระบาดโควิด-19 และพื้นที่กรุงเทพมหานครเดินทางกลับภูมิลำเนาได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่ภาครัฐกำลังพัฒนาระบบเตือนภัยดังกล่าวให้สมบูรณ์อยู่นั้น ปัจจุบัน มีบริการของภาคเอกชนเป็นทางเลือกที่ประชาชนสามารถใช้ได้แล้ว เช่น LINE Alert ซึ่งผู้ประสงค์ใช้บริการ สามารถแอดไลน์ @linealert เพื่อติดตามสถานการณ์แจ้งเตือนภัย ที่มีทั้งการเช็กพื้นที่เสี่ยง รวบรวมเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉิน และการแจ้งเตือนภัยพิบัติต่างๆได้ โดยไม่ต้องรอการพัฒนาระบบ SMS Emergency Alert ของภาครัฐ

ล่าสุด นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.และโฆษกพรรคก้าวไกล ได้กล่าวในการประชุมรัฐสภาเกี่ยวกับประเด็น SMS Emergency Alerts โดยระบุว่า ขอหารือประธานสภาฯผ่านไปยังกระทรวงดิจิทัลฯ กสทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เร่งรัดแผนการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยแบบ Cell Broadcast ที่จะเป็นการส่งข้อความเข้าโทรศัพท์มือถือทุกเครื่องในพื้นที่เกิดเหตุ

เหตุการณ์ระทึกขวัญที่เกิดขึ้นนี้ สะท้อนภาพปัญหาที่ยังคงมีอยู่และทำให้เห็นว่าประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องพัฒนาเทคโนโลยีระบบเตือนภัยสำหรับประชาชน ให้ก้าวหน้ากว่านี้ เพื่อที่ว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์รุนแรงหรือภัยพิบัติใดๆขึ้นมา ประชาชนจะสามารถมั่นใจได้ว่า พวกเขาจะได้รับการแจ้งเตือนภัยอย่างทันท่วงที เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายและความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น