นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลได้ดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำลำน้ำห้วยน้ำโสม เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัย รวมถึงขาดแคลนน้ำเพื่อทำการเกษตร และการอุปโภค-บริโภค
ทั้งนี้ ได้มีการจัดทำโครงการศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาแหล่งน้ำลำน้ำห้วยน้ำโสม จ.อุดรธานี และ จ.หนองคาย เนื่องจากการพัฒนาโครงการมีความเกี่ยวโยงกับลุ่มน้ำข้างเคียง และลุ่มน้ำสายหลัก
โดยได้เปิดให้ประชาชนทุกภาคส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ มาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาเพิ่มเติมให้ผลการศึกษาแผนหลัก (Master Plan) นำไปสู่การบริหารจัดการน้ำ และแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ยังได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจพื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งหัวงานโครงการ บริเวณวัดแก่งศิลา ต.แก้งไก่ อ.สังคม จ.หนองคาย โดยมีเป้าหมายในการสร้างพื้นที่กักเก็บน้ำ เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมและการขาดแคลนน้ำสำหรับการเกษตร รวมถึงระบบการกระจายน้ำในพื้นที่โครงการให้มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภค-บริโภค
สำหรับการดำเนินการดังกล่าวสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2561 คณะกรรมการร่วมภาครัฐบาลและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) เสนอแผนงานโครงการเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 (บึงกาฬ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู และ อุดรธานี) ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ครั้งที่ 7/2561 ที่ จ.เพชรบูรณ์ จำนวน 12 โครงการ
โดยโครงการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำห้วยน้ำโสม จ.อุดรธานี จ.หนองคาย ครม. มีมติเห็นชอบ ให้กรมชลประทานดำเนินการศึกษโครงการและได้รับการพิจารณาอนุมัติงบประมาณในปี 2564 ซึ่งที่ผ่านมากรมชลประทานได้มีการวางแผนแก้ไขบรรเทาปัญหาอย่างเป็นระบบ และที่ผ่านมาได้ทำการศึกษาความเหมาะสมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำดังกล่าวเพื่อจัดทำแผนหลักการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยน้ำโสม
นายสุรชาติ กล่าวอีกว่า ลุ่มน้ำห้วยน้ำโสมมีพื้นที่ประมาณ 1,060.29 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ครอบคลุม 2 จังหวัด ได้แก่ จ.อุดรธานี และจ.หนองคาย โดยต้นน้ำห้วยน้ำโสมอยู่บริเวณ ต.น้ำโสม อ.น้ำโสม จ.อุดรธานี และไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่บริเวณ ต.แก้งไก่ และต.ผาตั้ง อ.สังคม จ.หนองคาย ความยาวประมาณ 116 กิโลเมตร
พื้นที่ลุ่มน้ำห้วยน้ำโสมมีปริมาณฝนตกสะสมเฉลี่ยประมาณ 1,486.6 มิลลิเมตรต่อปี เกิดเป็นน้ำท่าในลุ่มน้ำประมาณ 353.44 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี แต่ด้วยข้อจำกัดของปริมาณน้ำที่เก็บกักไว้ได้ในปัจจุบันยังคงไม่เพียงพอ เมื่อแม่น้ำโขงลดระดับลงและน้ำที่ท่วมขังอยู่ในพื้นที่จะระบายลงแม่น้ำโขงผ่านลำน้ำโสม ทำให้ในช่วงฤดูแล้ง ปริมาณน้ำต้นทุนไม่มีเพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำ
โดยมีการจัดลำดับความสำคัญโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและโครงการบรรเทาอุทกภัย เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยน้ำโสม จากการรวบรวมแผนการพัฒนาแหล่งน้ำ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ และประชุมร่วมกับหน่วยงานส่วนท้องถิ่นในพื้นที่โครงการ โดยแผนหลักเพื่อพัฒนาลุ่มน้ำห้วยน้ำโสม ประกอบด้วย โครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง ที่กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาเสนอเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ (ภัยแล้ง) และอุทกภัย จำนวน 7 โครงการ
และโครงการซึ่งสามารถดำเนินการ โดยหน่วยงานระดับท้องถิ่น จำนวน 39 โครงการ รวมทั้งหมด 46 โครงการ ซึ่งสามารถส่งน้ำให้พื้นที่รับประโยชน์มากกว่า 45,000 ไร่ และจากการเปิดประชุมรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมาประชาชนในพื้นที่โครงการไม่เห็นด้วยกับโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำโสม อ.น้ำโสม จ. อุดรธานี กรมชลประทานและกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาได้พิจารณาโครงการที่มีความสำคัญและเป็นที่ต้องการของประชาชนในพื้นที่มากกว่า คือ ประตูระบายน้ำน้ำโสม อ.สังคม จ.หนองคาย ในการศึกษาความเหมาะสมโครงการ
นายสุรชาติ กล่าวต่อไปอีกว่า โครงการประตูระบายน้ำน้ำโสม ครอบคลุม บ้านแก้งไก่ บ้านสังกะลี ของ ต.แก้งไก่ และบ้านลำภูพาน ของ ต.ผาตั้ง อ.สังคม จ.หนองคาย มีพื้นที่หัวงานอยู่หมู่ที่ 3 บ้านแก้งไก่ ต.แก้งไก่ ดำเนินการสร้างประตูระบายน้ำ และระบบส่งน้ำให้แก่พื้นที่รับประโยชน์ โดยบานระบายมีขนาด 12.50x7.2 เมตร จำนวน 3 บาน มีความจุ 1.00 ล้าน ลบ.ม. ระดับน้ำเก็บกัก +168.00 เมตร (รทก.)
นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อการระบายน้ำหลากสู่น้ำโขงและสูบน้ำกลับจากโขงด้วยเครื่องสูบน้ำไฟฟ้า จำนวน 3 เครื่อง มีอัตราการสูบน้ำสูงสุดต่อเครื่อง 3 ลบ.ม./วินาที ผ่านระบบส่งน้ำด้วยท่อสายหลัก ครอบคลุมพื้นที่ 437 ไร่ และท่อส่งน้ำฝั่งซ้าย คลอบคลุมพื้นที่ 3,535 ไร่ ซึ่งจะมูลค่าการก่อสร้าง รวมทั้งสิ้น 643.147 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในการพัฒนาโครงการประตูระบายน้ำน้ำโสม อ.สังคม จ.หนองคาย เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ จะมีพื้นที่รับประโยชน์จำนวน 4,885 ไร่ ในพื้นที่ 2 ตำบล 3 หมู่บ้าน ประกอบด้วย หมู่ที่ 3 บ้านแก้งไก่ หมู่ที่ 5 บ้านสังกะลี ต.แก้งไก่ และหมู่ที่ 3 บ้านลำภูพาน ต.ผาตั้ง อ.สังคม จ.หนองคาย
"ประชาชนจะได้รับประโยชน์โดยตรงจากการมีแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับการเกษตรกรรม และการอุปโภค-บริโภคในช่วงฤดูแล้ง ลดอุทกภัยน้ำท่วมในช่วยฤดูฝน และยังเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของผลผลิตทางการเกษตรมากขึ้น เพิ่มพื้นที่เพาะปลูก และส่งเสริมการปลูกพืชที่มีรายได้สูง ซึ่งส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้นและมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ"