นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า เป็นห่วงสถานการณ์น้ำที่เริ่มท่วมในหลายพื้นที่ ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับพืชผลทางการเกษตร ทรัพย์สินบ้านเรือนของประชาชน ,โรงงานอุตสาหกรรมรวมถึงภาคการท่องเที่ยว จะยิ่งกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนสูงขึ้น
ทั้งนี้ จึงต้องการให้ภาครัฐเร่งจัดทำแผนรับมือผลกระทบและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นและการขาดแคลนสินค้าต่างๆ เพราะจะยิ่งผลักดันให้ราคาสินค้าสูงขึ้น ซึ่งจะสวนทางกับนโยบายดูแลราคาสินค้าให้ลดลงของรัฐบาล
ขณะที่ภาคเอกชน เบื้องต้นได้เตรียมปรับแผนเส้นทางขนส่งสินค้าทั้งทางรางและทางน้ำ หากกรณีน้ำท่วมรุนแรงจะกระทบเส้นทางขนส่งทางถนน
นอกจากนี้ ส.อ.ท. ยังได้ดำเนินการร่วมกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ และมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อร่วมบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ และรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ที่ส่งผลต่อสถานการณ์น้ำของประเทศทั้งปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง ให้เกิดเสถียรภาพและมีความมั่นคงต่อความต้องการใช้ในทุกภาคส่วน
ขณะนี้ สอท. ได้ส่งทีมลงสำรวจเก็บข้อมูลความต้องการใช้น้ำในแต่ละจังหวัด ซึ่งได้ดำเนินการเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2564 ทั้งอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำปริมาณมากและอุตสาหกรรมที่ใช้ปริมาณน้ำน้อย โดยจะพบว่า ในพื้นที่อีอีซี (EEC) คาดว่าความต้องการใช้น้ำในปี 2567 จะเพิ่มขึ้น 10-20% จากปริมาณการผลิตทั้งหมด
โดยเฉพาะอุตสาหกรรม อิเล็กทรอนิกส์ เกษตรแปรรูปและอาหารที่ต้องใช้น้ำปริมาณมาก จึงต้องเตรียมรองรับ ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ต่อการลงทุนเนื่องจากแนวโน้มการลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าวจะขยายตัวมากขึ้นจากการย้ายฐานการผลิต เข้ามาในพื้นที่ EEC จึงต้องเตรียมแผนน้ำในการผลิตให้เพียงพอสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน
โดยการเก็บข้อมูลสำรวจคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567 และจะนำข้อมูลเชื่อมระบบกัขคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ เพื่อวางแผนยุทธศาสตร์บริหารระยะยาวต่อไป