สอวช.ติว University Holding Company ให้ มรภ.-มทร. หวังร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

24 พ.ย. 2566 | 09:10 น.
อัปเดตล่าสุด :24 พ.ย. 2566 | 09:35 น.

สอวช.จัดประชุมทำความเข้าใจ การจัดตั้ง University Holding Company ให้กับ มรภ.-มทร. หวังดึงพลังเครือข่ายมหาวิทยาลัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด

ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวในงานประชุมชี้แจงแนวทางส่งเสริมการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมจากสถาบันอุดมศึกษา สู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ด้วยกลไก University Holding Company ของกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า หลังมีการประกาศระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการ่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ในโครงการซึ่งนำผลวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ พ.ศ. 2566 ซึ่งมีผลบังคับใช้กับสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ หน่วยงานของรัฐที่มีภารกิจและวัตถุประสงค์ด้านการวิจัยและนวัตกรรมและหน่วยงานของรัฐตามที่สภานโยบายกำหนด 

                     ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล

ทำให้เกิดคำถามถึงความเป็นไปได้ในการดำเนินงาน University Holding Company ของกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏและกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล จึงเป็นที่มาของการประชุม เพื่อเป็นเวทีในการทำความเข้าใจให้กับมหาวิทยาลัยในการขับเคลื่อน University Holding Company ในกลุ่มมหาวิทยาลัย

ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า การส่งเสริมนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมจากสถาบันอุดมศึกษาสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ด้วยกลไก University Holding Company จะเป็นพลังที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวอยู่ในขณะนี้ได้ และเชื่อว่ามหาวิทยาลัย และประชาคมเครือข่ายนวัตกรรม จะเป็นพลังสำคัญในการขยับเศรษฐกิจของประเทศ 

ทั้งนี้ การจัดตั้ง University Holding Company เพื่อทำการร่วมลงทุน สามารถดำเนินการได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งจัดตั้งโดยมหาวิทยาลัยเดียว หรือ รวมกลุ่มมหาวิทยาลัยเพื่อใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ร่วมกัน 

นอกจากนี้ ดร.กิติพงค์ ได้ยกตัวอย่างเศรษฐกิจประเทศจีนที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากรัฐบาลใช้นโยบายสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม หรือ Innovation Driven Enterprises (IDE) ซึ่งประกอบธุรกิจโดยอาศัยนวัตกรรมทั้งในการพัฒนาสินค้า และกระบวนการผลิต 
ในส่วนของประเทศไทยก็มี IDE ที่ประสบความสำเร็จหลายบริษัท

โดยไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่อุตสาหกรรมที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep tech) เท่านั้น แต่รวมไปถึงบริษัทในอุตสาหกรรมการเกษตร อาหาร การบริการต่าง ๆ ซึ่งหากได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจังก็จะช่วยให้เติบโตขยายขนาดหรือ scale-up ต่อได้  

                    ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์                      

ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวด้วยว่า หลังจากนี้ จะมีการ Spin-off หน่วยบริหารจัดการทุนภายใต้โครงสร้างเดิม ไปเป็นสำนักงานเร่งรัดการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขันและการพัฒนาพื้นที่ (รวพ.) องค์การมหาชน ที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้สามารถทำการร่วมลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพได้ 

นอกจากนี้ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการ่วมลงทุนฯ ได้มีการปลดล็อก ให้อาจารย์ นักวิจัย หรือบุคลากรในมหาลัย สามารถออกไปเป็นสตาร์ทอัพได้  

ด้าน นางสาวนิรดา วีระโสภณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวถึงกฎหมายและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการร่วมลงทุนและการจัดตั้ง University Holding Company ว่า ปัจจัยที่มหาวิทยาลัยต้องพิจารณาให้รอบคอบก่อนการจัดตั้งคือ จำนวนผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่พร้อมใช้ประโยชน์ บุคลากรที่สามารถดำเนินการในธุรกิจนวัตกรรม ตลอดจนระบบสนับสนุนการเชื่อมโยงงานนวัตกรรมไปสู่การดำเนินธุรกิจ และงบประมาณในการจัดตั้งและงบประมาณสำหรับการร่วมทุน 

นางสาวนิรดา ยังได้กล่าวถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้ง University Holding Company ว่า มี พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 มาตรา 39 ที่กำหนดให้มีการนำผลวิจัยและนวัตกรรมของสถาบันอุดมศึกษาไปใช้ประโยชน์ สถาบันอุดมศึกษาอาจจัดตั้งนิติบุคคล หรือร่วมลงทุนกับหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำผลการวิจัยและนวัตกรรมของสถาบันอุดมศึกษาไปใช้ประโยชน์ได้ 

นอกจากนี้ ยังมี พ.ร.บ.ส่งเสริม ววน. พ.ศ. 2562 มาตรา 31 ที่กำหนดว่า เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ หน่วยงานของรัฐอาจร่วมลงทุนในโครงการ ซึ่งนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ได้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่สภานโยบายกำหนด และได้ชี้แจงถึงข้อกังวลเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความเป็นรัฐวิสาหกิจของ Holding company อีกด้วย

                        สอวช.ติว University Holding Company ให้ มรภ.-มทร. หวังร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ในการประชุมได้มีการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกลไก University Holding Company โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มสถาบันอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรม และกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีประสบการณ์ในการทำ University Holding Company

รวมถึงบริษัทสตาร์ทอัพสปินออฟภาคเอกชนที่มีการทำงานร่วมกับ University Holding Company เป็นผู้แนะนำและถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับทั้ง 2 กลุ่มมหาวิทยาลัย 

จากนั้นได้มีการแลกเปลี่ยนมุมมอง และตอบข้อซักถาม ซึ่งความเห็นส่วนใหญ่พบว่า กฎและระเบียบบางอย่างยังเป็นอุปสรรคที่ทำให้ University Holding Company เติบโตได้ยาก แต่ทางกลุ่มมหาวิทยาลัยมองเห็นถึงศักยภาพ โอกาส และประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากกลไกดังกล่าว 

การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันในครั้งนี้ จึงถือเป็นการสะท้อนให้เห็นข้อจำกัดในการดำเนินการจริงของมหาวิทยาลัย ที่จะเป็นข้อมูลให้กระทรวง อว. และ สอวช. ร่วมดำเนินการและหาแนวทางส่งเสริมสนับสนุนที่เหมาะสมให้กับมหาวิทยาลัยต่อไป