หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่า มีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. ... ผ่านระบบออนไลน์ตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 - 23 พ.ย. 2566 ซึ่งครบกำหนดเวลาเปิดรับฟังความคิดเห็นไปแล้วนั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าล่าสุดว่า นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)เปิดเผยว่า การเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างกฎกระทรวงดังกล่าวได้เสร็จสิ้นแล้วซึ่งการแสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่เห็นไปในแนวทางเดียวกันว่า ร่างดังกล่าวมีความเหมาะสมจึงไม่ต้องมีการปรับแก้ไขรายละเอียดตัวร่างกฎกระทรวงดังกล่าวแต่อย่างใด
โดยหลังจากนี้ก็จะอยู่ขั้นตอนเอาร่างกฎกระทรวงเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ถ้า ครม.เห็นชอบก็จะเอาร่างมาลงนามประกาศบังคับใช้ต่อไป ทั้งนี้ นายแพทย์ชลน่าน ยืนยันว่า ได้เซ็นเรื่องเข้าไปแล้วแต่ไม่แน่ใจว่า จะทันเข้าที่ประชุม ครม.สัญจรในวันที่ 3-4 ธันวาคมนี้ที่ จ.อุดรธานี หรือไม่
สำหรับร่างกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. ... เป็นการกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษในประเภทต่าง ๆ อาทิ
ยาเสพติดให้โทษในประเภท 1
-แอมเฟตามีน มีปริมาณไม่เกิน 5 หน่วยการใช้หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 500 มิลลิกรัม
-เอ็น-เอทิล เอ็มดีเอ หรือ เอ็มดีอี มีปริมาณไม่เกิน 5 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 1,250 มิลลิกรัม
-เฮโรอีน มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 300 มิลลิกรม เป็นต้น
ยาเสพติดให้โทษในประเภท 2
-โคคาอีน มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 200 มิลลิกรัม
-ฝิ่น มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 5,000 มิลลิกรัม เป็นต้น
ยาเสพติดให้โทษในประเภท 5
-พืชฝิ่นหรือที่มีชื่ออื่นในสกุลเดียวกันที่ให้ฝิ่นหรือแอลคาลอยด์ของฝิ่น มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 15,000 มิลลิกรัม
- เห็ดขี้ควายหรือพืชเห็ดขี้ควายหรือที่มีชื่ออื่นในสกุลเดียวกันที่ให้สาร psilocybin หรือ psilocin มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 135,000 มิลลิกรัม เป็นต้น
หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 ในปริมาณเล็กน้อยที่ให้สันนิษฐานว่า มีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดเจตนารมณ์ใช้ประกอบการพิจารณาให้โอกาสแก่ผู้เสพผู้ติดยาเสพติดที่ครอบครองยาเสพติดหรือวัตถุออกฤทธิ์ไว้เพื่อการเสพ โดยไม่ถือเป็นโทษความผิดร้ายแรง และพิจารณาให้รับการบำบัด โดยจะต้องพิจารณาควบคู่กับพฤติกรรมอื่นที่เกี่ยวกับการจำหน่ายยาเสพติด หรือระดับความรุนแรงของการเสพติด
ทั้งนี้ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีความสอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบันและควบคุมการใช้ประโยชน์ยาเสพติดในทางการแพทย์ ทางวิทยาศาสตร์ และทางอุตสาหกรรม รวมถึงเพื่อป้องกันการแพร่กระจายยาเสพติดและการใช้ยาเสพติดในทางที่ไม่ถูกต้องอันจะนำไปสู่การติดยาเสพติด
ทั้งยังเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามมาตรา 107 วรรคสองแห่งประมวลกฎหมายยาเสพติดที่กำหนดให้การมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ประเภท 2 หรือประเภท 5 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 ในปริมาณเล็กน้อย ซึ่งไม่เกินปริมาณที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนดในกฎกระทรวงให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า มีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ